น่าสนใจไม่น้อยสำหรับข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์หลายฉบับเกี่ยวกับกรณีที่ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ออกมาเปิดเผยถึงข้อร้องเรียนจากผู้ปกครองบางส่วนหลังพบว่าหลานชายหลานสาวอายุประมาณ 7-10 ปี กำลังนั่งดูการ์ตูนเรื่อง "นารูโตะ ภาคพิศดาร" ที่มีฉากการร่วมเพศอย่างโจ๋งครึ่มผ่านทางเว็บไซต์ชื่อดังเว็บไซต์หนึ่ง
จากการตรวจสอบของศูนย์เฝ้าระวังในเบื้องต้นพบว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมาย จึงจะรวบรวมหลักฐานทั้งหมดส่งไปให้ทางไอซีทีเพื่อแจ้งไปยังเว็บไซต์ดังกล่าว และทำการปิดหน้าเว็บบอร์ดที่มีการเผยแพร่คลิปการ์ตูนนารูโตะภาคพิสดารเสีย รวมถึงจะมีการส่งฟ้องต่อศาลให้พิจารณาโทษตามกฎหมายต่อไป
คลิปที่ระบุว่าเป็น "นารูโตะภาคพิศดาร" ทั้งๆ ที่เป็นการ์ตูนเรื่อง "นาเดีย"
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะให้คุณอนันต์ แต่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารในโลกออนไลน์ก็กลายเป็นช่องทางช่องหนึ่งที่นำความเสี่ยงมาสู่ผู้ใช้ไม่น้อยเช่นกัน
เฉพาะอย่างยิ่งกับเหล่าเด็กและเยาวชนซึ่งมักจะตกเป็นเหยื่อได้ง่ายดาย นำมาซึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาสังคมอันหลากหลาย โดยที่มากสุดคงหนีไม่พ้นในเรื่องของพฤติกรรมทางเพศ
คำถามก็คือ ในขณะที่เด็กๆ เอง "รู้" และสามารถจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างง่ายดายแล้ว ผู้ใหญ่หรือบรรดาผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ล่ะ "ตามทัน" และเข้าใจถึงแก่นปัญหาที่แท้จริงมากน้อยเพียงใด?
ยกตัวอย่างกับกรณีของคลิปการ์ตูนที่เป็นข่าวที่ถูกระบุว่านารูโตะฯ (และทุกคนก็บอกว่าเป็นนารูโตะ)นั้นก็ผิดเสียแล้ว เพราะจากภาพที่ออกมามันน่าจะเป็นตัวละครจากการ์ตูนเรื่อง "นาเดีย" มากกว่า
โดยการทำการ์ตูนโป๊ อนิเมะ-มังงะ (ทั้งที่เป็นของใหม่ หรือการนำเอาตัวละครจากการ์ตูนเรื่องต่างๆ ทีมีชื่อเสียงอยู่แล้ว อาทิ ซิตี้ ฮันเตอร์, โดราเอมอน, ปาร์แมน ปาร์แมน ฯ) ให้มีเรื่องราวส่อไปในทางลามก อนาจาร มีการร่วมเพศกันอย่างโจ๋งครึ่มเช่นนี้ จะเรียกกันว่า "เฮนไต" (Hentai) (โดยตัวของมันเองแปลว่า วิปริต ผิดแผก) ซึ่งที่ญี่ปุ่นเองมีอนิเมะประเภทนี้ไม่น้อยทีเดียว
(แต่ถ้าการ์ตูนเล่มที่มีการเขียนตัวละครโดยการเลียนแบบคาแรกเตอร์ของตัวการ์ตูนที่มีอยู่แล้วนำมาเขียนเรื่องราวใหม่โดยไม่ผ่านระบบขั้นตอนและการจัดจำหน่ายของสำนักพิมพ์จะเรียกว่า "โดจิน" หรือ "โดจินชิ" ซึ่งว่ากันว่า 80% ของการ์ตูนประเภทนี้จะเป็นการ์ตูนโป๊เสียส่วนใหญ่)
2 ปีที่แล้วหลายคนคงจำกันได้ถึงข่าวคราวที่มีการ์ตูนโป๊ญี่ปุ่นจำนวนนับ 10 เล่มไปโผล่อยู่ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมาแล้ว ที่น่าคิดก็คือหากมองกันว่านี่คือปัญหา เราจะมีวิธีการที่จะรับมือกับมันอย่างไร?
ภาพการ์ตูนลามกอนาจารที่มีอยู่มากมาย
โดยเฉพาะในโลกของออนไลน์และการเติบโตขึ้นของโพสต์เว็บ Hi5 msm ที่นับวันจะง่ายขึ้นทั้งสำหรับคนที่ต้องการจะเผยแพร่ และทั้งสำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้
7ขวบดูการ์ตูนภาคพิสดาร วธ.ตื่นสกัดคลิปโป๊แพร่เว็บ, เดือด! 2 ม.ส่งรุ่นพี่แชตออนไลน์ชิงนศ.ใหม่, ตำรวจรวบโจ๋ ลวงเด็กหญิงส่งภาพเปลือยผ่าน PS3, เกมอุบาทว์ไล่ข่มขืนเหยื่อเป็นแม่กับลูกสาวขายเกร่อ-ตร.จี้เข้มงวด, โพลชี้โจ๋มัธยมร้อยละ 13 เคยมีเซ็กซ์ น่าห่วง! กว่า 7% ได้จากแชต-Hi5-MSN, เด็ก 8 ขวบติดเกมส์งอมแงม เร่ขอทานแลกเงินเล่นทุกวัน, ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เด็กโหดฆ่าแม่เพราะฉุนโดนยึดเกม ฯลฯ
แม้จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แก้ปัญหาเอาหน้า แก้ไม่ถูกจุด แก้ไม่ได้เรื่อง กระทั่งทว่าเมื่อถามไปยัง "ลัดดา ตั้งสุภาชัย" ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เจ้าตัวยืนยันว่าผู้ที่รับผิดชอบกับเรื่องเหล่านี้ก็พยายามที่จะทำให้การทำงานทุกๆ อย่างมีความรวดเร็วขึ้น
"การทำงานปัจจุบันไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงอย่างเดียว คือทำแบบคู่ขนานโดยร่วมมือกันหมดทั้งตำรวจ ICT และเจ้าหน้าที่ ขั้นแรกหากตรวจพบเว็บเข้าข่ายอนาจารก็จะสั่งบล็อคไว้ก่อนในขั้นต้น จากนั้นเจ้าหน้าที่จะไล่เซฟ url และลิ้งค์ที่เกี่ยวข้องไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อเวลาเข้าไปที่ root พื้นฐานจะได้ยังมีหลักฐานจี้ให้กระทรวง ICT ปฏิเสธในการดำเนินการต่อไปไม่ได้ เหมือนที่ทำเป็นขั้น ก มันก็ต้องมี ข ตามมา"
"จากนั้นกระทรวง ICT จึงขอหมายศาลเพื่อเข้าไปยัง server เอาผิดเจ้าของเว็บ การดำเนินการดังกล่าวกินเวลาไม่นาน หากเจ้าของเว็บชิงลบข้อมูลออกไป ทั้งหมดก็ถูกกู้กลับมาได้อยู่ดีเพราะส่วนมากยังคงอยู่ในฮาร์ดดิสก์ ถึงแม้เมื่อมีพาสเวิร์ดแต่ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถทราบพาสเวิร์ดได้อยู่ เรียกว่าไม่หลุดรอดแน่นอน"
ส่วนสาเหตุที่ยังมีเว็บไซต์ที่เข้าข่ายลามกอนาจารอีกมากมายชนิดที่ค้นหาได้ง่ายๆ เพียงคลิกคำอย่าง คลิป โป๊ เสียว ฯ ในเว็บเสิร์ช ก็จะปรากฏรายชื่อเว็บที่เป็นภาษาไทยออกมาจำนวนมากมายนั้น เรื่องนี้ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังเผยว่าที่สำคัญก็คือผู้ประกอบการนั้นขาดจิตสำนึกที่จะรับผิดชอบต่อสังคม
เซ็นเซอร์ฉาก "ชิซูกะ" อาบน้ำ ตัวอย่างหนึ่งของการทำงานป้องกัน-ปราบปรามแบบไทยๆ
"เพราะก่อนที่จะมีการเปิดใช้เว็บในหนังสือคู่สัญญาระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าสิ่งที่เผยแพร่นั้นจะต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี อย่าง web ที่มักจะจดทะเบียนแค่ครั้งเดียว จงใจไม่อัพเดทความเป็นไป (เว็บเถื่อน) เหล่านี้ก็เกิดขึ้นเยอะจนบางทีเกินความสามารถในการสอดส่องดูแล"
"ส่วนผู้เกี่ยวข้อง เช่น เสิร์ช เอนจิ้น ใหญ่ๆ อย่างกูเกิลเราก็ขอความร่วมมือไปแล้วในการสืบค้น โดยใช้คีย์เวิร์ดที่ล่อแหลมและสุ่มเสี่ยง กูเกิลก็ให้ความร่วมมือไปแล้วเป็นร้อยๆ คำ โดยที่จะบล็อคคำเหล่านั้นเอาไว้ แต่ก็มีเว็บอีกจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่ผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ด"
ย้ำทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่พอเกิดเรื่องก็โทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทุกฝ่ายจะปฏิเสธในความรับผิดชอบร่วมกันไม่ได้ เพราะหากทุกคนมีจิตสำนึกที่ดี ทุกอย่างจะไม่เลวร้ายลงมาก และยังพอที่จะแก้ไขได้ทันท่วงที
"โดยเฉพาะผู้ปกครองที่เลี้ยงลูกแบบบุฟเฟต์ คือไม่กลั่นกรองสื่อที่ลูกเสพเข้าไปให้มากพอ จนบางครั้งกลายเป็นความละเลยเกินแก้ ในทางกลับกันเชื่อว่าเด็กก็ทราบว่าอะไรไม่ดี เหมือนกับที่พริกเผ็ด เขาก็จะเรียนรู้ที่จะไม่กินเข้าไป"
"แต่สิ่งเหล่านี้ไม่แสดงโทษให้เด็กเห็นมากพอ ซ้ำร้ายยังเป็นการยั่วยุให้เข้าไปคลุกคลีได้ง่าย ตรงนี้เด็กเองจะต้องตระหนักและดูแลตัวเองให้ได้มากพอด้วย"
สอดรับกับคำบอกเล่าของเว็บมาสเตอร์ "ใส่ใจ ดอทเน็ต" (http://www.saijai.net) ที่มองว่า...
"คือถ้าเด็กและเยาวชนเข้าถึงเว็บไซต์พวกนี้ได้ง่ายมันย่อมเกิดผลเสียแน่นอน เพราะเขาจะเห็นตัวอย่างที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งถ้ามีเว็บเช่นนี้ออกมามากๆ ก็จะทำให้เกิดความเคยชินและเฉยชา เห็นเรื่องไม่สมควรเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับตน ซึ่งนับว่าอันตรายกับสังคมไทยมากขึ้นทุกที"
สำหรับการเกิดขึ้นของไส่ใจ ดอทเน็ต นั้นก็คืออีกหนึ่งความพยายามที่จะให้ผู้ปกครองได้รับรู้พฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ของของบุตรหลานทั้งในส่วนของอินเทอร์เน็ต เกมออนไลน์ การแชต โดยจะต้องสมัครเป็นสมาชิกและเสียค่าบริการเพื่อที่จะรับโปรแกรมที่ว่านี้มา
เพียงแค่พิมพ์คำว่า "คลิป" ในเว็บเสิร์ชก็จะเจอเว็บแบบนี้มากมาย
"เว็บนี้มีการทำงานโดยจะมอนิเตอร์การเข้าใช้งาน internet webcam chat รวมทั้งเกมออนไลน์ต่างๆ เน้นเป็นการใช้งานของผู้ปกครองโดยเฉพาะ โดยสามารถกำหนดได้ว่าภายใน 24 ชั่วโมง ช่วงเวลาใดที่มีความเหมาะสมที่จะอนุญาตให้เด็กเล่นได้"
"อีกอันหนึ่งเป็นฟิลเตอร์กรองเว็บที่ไม่เหมาะสม โดยจะบล็อคเว็บที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมต่อเยาวชน มีการอัพเดท url ทุกสัปดาห์ รวมกับที่ทางผู้ปกครองแจ้งอัพเดทด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาในการใช้งาน สามารถทำงานได้อยู่ในเกณฑ์ดีจากความเห็นของผู้ปกครองส่วนใหญ่"
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเว็บมาสเตอร์คอนเดิมยอมรับว่าทั้งหมดนี้คือการป้องกันเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะที่สำคัญก็คือจิตสำนึกของผู้ที่เกี่ยวข้องนั่นเอง
"การทำงานของเว็บนี้ก็สามารถช่วยได้ส่วนหนึ่ง ถึงจะเรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพ แต่คงไม่สำคัญเท่าจิตสำนึกของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ปกครองหรือแม้แต่กระทั่งตัวเด็กเอง เชื่อว่าเด็กส่วนมากรู้ว่าอะไรที่ไม่เหมาะสม"
"หากไม่ปล่อยปละละเลยตรงจุดนี้ไปและมีจิตสำนึกมากพอที่จะเห็นว่าไม่เหมาะสม ตัวเราเองน่าจะให้คำตอบและกลั่นกรองเองดีที่สุด"
จากการจัดอันดับของสถาบันจัดลำดับอินเตอร์เน็ตที่น่าเชื่อถือ Internet Watch Foundation เกี่ยวกับ การเผยแพร่ภาพลามกอนาจารของเด็กและสตรีผ่านเว็บไซต์ ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 5 คิดเป็น 3.6% โดยมีสหรัฐอเมริกามาเป็นอันดับหนึ่ง 51.1% อันดับที่ 2 รัสเซีย 14.9% อันดับ 3 ญี่ปุ่น 11.7% อันดับ 4 สเปน 8.8% อันดับที่ 6 เกาหลีใต้ 2.16% อันดับที่ 7 อังกฤษ 0.2% และประเทศอื่นๆ อีก 7.5%
โดยตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน 2545 พบเว็บไซต์ลามกอนาจารภาษาไทย 11,681 ราย เว็บไซต์ลามกอนาจารภาษาต่างประเทศ 7,273 ราย เว็บไซต์ภาพเด็กและเยาวชนลามก 1,592 ราย เว็บไซต์ขายวัตถุลามกภาษาไทย 4,051 ราย เว็บไซต์ขายวัตถุลามกภาษาต่างประเทศ 500 ราย และเว็บขายบริการทางเพศ 860 ราย
|