1 พ.ย.56 วันนี้อ่านข่าวของคมชัดลึก แล้วสะดุดหัวข้อข่าวว่า ชาวลำปาง ขานรับเขื่อนถึง 3 เขื่อนที่จะเพิ่มขึ้น จากที่มีเขื่อนกิ่วลม และเขื่อนกิ่วคอหมา ซึ่งก่อนหน้านี้มีนักอนุรักษ์เดินเท้าจากแม่วงก์-กรุงเทพฯ กว่า 388 กม. แล้วชาวกรุงเทพฯ และชาวไทยก็สนับสนุนว่าไม่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์ .. เป็นอีกมุมที่น่าสนใจ
ต้องการเขื่อน
ชาวลำปาง…ขานรับ3เขื่อนโมดูลเอ1 : นิศานาถ กังวาลวงศ์/ณต ทิพยางกูรรายงาน
http://www.komchadluek.net/detail/20131030/171627.html
การเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นในโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ผ่านไปหลายเวที แน่นอนว่าคนในพื้นที่ย่อมมีทั้งเสียงคัดค้าน และเห็นด้วย ถือเป็นเรื่องปกติในการแสดงความคิดเห็น และการช่างน้ำหนักประเมินผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เช่นเดียวกับ การสร้างอ่างเก็บน้ำในโมดูล เอ 1 ทั้ง 3 แห่ง ในพื้นที่ จ.ลำปาง คือ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งผาก ต.เวียงมอก อ.เถิน โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตีบ ต.แม่ตีบ อ.งาว และ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่อ้อน 2 ต.บ้านอ้อน อ.งาว โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ชาวบ้านสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี เชื่อว่าจะได้คำตอบในระดับหนึ่งหลังเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
อย่างไรก็ตามก่อนถึงวันจริง ทีมข่าว “คม ชัด ลึก” ลงพื้นที่วัดกระแสชาวลำปาง มีท่าทีอย่างไรต่อแนวทางการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลชุดนี้
ว่าที่ ร.ต.จำรูญ กุญชรโพธิ์สกุล ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเวียงมอก ยืนยันว่า ชาวบ้านในพื้นที่อยากได้อ่างเก็บน้ำห้วยโปงผากมานานกว่า 20 ปีแล้ว เพราะได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝน แต่พอเข้าหน้าแล้งกลับขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคน้ำเพื่อเกษตรกรรม
“ที่ผ่านมาชาวบ้านที่ไม่สามารถปลูกพืชผลได้ในหน้าแล้ง ทำให้ขาดรายได้เลี้ยงครอบครัว บางรายจึงไปลักลอบเก็บของป่าและตัดไม้ออกมาจำหน่าย ทำให้ทรัพยากรป่าลดน้อยลง ถ้าไม่สร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ เชื่อว่าพื้นที่ป่าต้องลดลงยิ่งกว่านี้แน่ๆ ส่วนผู้ได้รับผลจากการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งผากมีแค่ 3 หลังคาเรือนเท่านั้น ไม่น่าที่จะมีปัญหาอะไร เพราะพูดคุยกันได้ ในเงื่อนไขที่รัฐจ่ายค่าชดเชยให้” ว่าที่ ร.ต.จำรูญย้ำ
สอดคล้องกับ “อำนาจ สมมะโน” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านหนองหอย ต.เวียงมอก บอกว่า เคยยื่นเรื่องไปยัง ส.ส.ลำปาง ทางจังหวัด และสำนักนายกรัฐมนตรี ขอให้สรางอ่างเก็บน้ำแต่เรื่องก็เงียบไป ชาวบ้านในพื้นที่เดือดร้อนมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง อีกด้านหนึ่งหากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำย่อมส่งผลดีถึงพื้นที่ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เนื่องจากน้ำจะถูกกักเก็บไว้ตั้งแต่ตอนบน นอกจากนี้ยังลดปัญหาตัดไม้ทำลายป่า ได้ประโยชน์จากการทำประมงน้ำจืด การท่องเที่ยว และการทำประปาภูเขาสำหรับ ต.เวียงมอก ไม่ต่ำกว่า 6 หมู่บ้าน
ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตีบ “สุวรรณ บุญเรือง” อดีตนายก อบต.แม่ตีบ พูดแทนคนในท้องถิ่นว่า ชาวบ้านสนับสนุนเพราะเข้าใจและมองเห็นประโยชน์ โดยเฉพาะด้านการเกษตรที่สามารถทำกินได้ตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม ยังมีเสียงชาวบ้านที่ไม่เข้าใจ ไม่เห็นประโยชน์ พยายามรวมกลุ่มคัดค้าน แต่ก็ไม่มีความต่อเนื่อง สำหรับในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะมีทั้งกลุ่มสนับสนุนและผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ได้กำหนดไว้ และกลุ่มผู้สังเกตการณ์จะเดินทางเข้าไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน จ.ลำปาง ไม่ต่ำกว่า 80 คน ถึงกระนั้นเชื่อว่าเสียงสนับสนุนที่มีอยู่อย่างเหนียวแน่น และยื่นเรื่องให้มีการก่อสร้างมากว่า 20 ปี จะได้รับคำตอบให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ตีบอย่างแน่นอน
ขณะที่ “เสริมศักดิ์ จงสุขวรากุล” อดีตนายก อบต.แม่อ้อน ย้ำจุดยืนเกี่ยวกับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่อ้อน 2 ว่า ชาวบ้านในพื้นที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะชาวบ้านจะได้ประโยชน์อย่างมากในเรื่องของการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง เชื่อว่าจะช่วยให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวตลอดทั้งปี
หมายเหตุ :
ชาวลำปาง…ขานรับ3เขื่อนโมดูลเอ1 : นิศานาถ กังวาลวงศ์/ณต ทิพยางกูรรายงาน
http://www.komchadluek.net/detail/20131030/171627.html