ธุรกิจหลังความตาย เมื่อคนตายเลี้ยงคนเป็น

ปรับปรุง : 2552-05-05 (สนทนากับราชศักดิ์ นิลศิริ)
นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
ฉบับประจำเดือน พฤษภาคม 2552 หน้า 133

เรื่องโดย ราชศักดิ์ นิลศิริ ภาพถ่ายโดย คัมภีร์ ผาติเสนะ
+ http://www.nationalgeographicthai.com/ngm/0905/feature.asp?featureno=6
คุณราชศักดิ์ นิลศิริ นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ National Geographic ฉบับภาษาไทย Tel.0851650435 rachasak@amarin.co.th ขอสนทนาเก็บข้อมูลเรื่องงานศพ กับนักวิจัย 3 คนคือ ประธานทรงศักดิ์ แก้วมูล พ่อกำนันกิจชนะชัย ปะละ และผม นานกว่า 2 ชม. ที่ศูนย์ประชุม Grand Diamon Ballroom ก็ดีใจที่ข้อมูลนี้จะถูกนำไปแลกเปลี่ยนในเวทีอื่นต่อไป .. ซึ่งสรุปได้ว่าผมพบบทความดังกล่าว จึงนำเสนอไว้ที่นี่
เรื่องในฉบับ : ทารกแช่แข็งแชงกรีลา แดนฝันปลายขอบฟ้าสวนสวยบนหลังคาอาร์กติกร้อนระอุเต่ามะเฟืองนักท่องโลกธุรกิจหลังความตาย
นี่เป็นเพียงบทคัดย่อ .. เพราะในหนังสือยาวถึง 10 หน้า
ผมเห็นใจ จิตตการ ขันสาคร จริงๆ ทั้งที่เขาเป็นคนคุยสนุกและอัธยาศัยดี แต่หากไม่ใช่ญาติพี่น้องหรือคนรู้จักมักจี่กันแล้ว คงไม่มีใครอยากพบหน้าเขาโดยไม่จำเป็น นั่นอาจเป็นเพราะอาชีพของเขาทำให้หลายคนรู้ซึ้ง ถึงความหมายของหยดน้ำตาและความสูญเสีย
“เซ็นชื่อให้ถูกนะครับ มรณบัตรจะได้ออกเร็วๆ” จิตตการบอกเด็กหนุ่ม แต่มือสั่นเทาคู่นั้นจับปากกาแทบไม่อยู่ เขาคงไม่คาดคิดว่าเช้าฤดูร้อนอันสดใสเช่นวันนี้ จะกลายเป็นวันที่เขาเสียใจที่สุดในชีวิต วันที่แม่บังเกิดเกล้าจากไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์
หลังจัดการเอกสารเสร็จ จิตตการพาเด็กหนุ่มไปทำพิธีนำศพออกจากห้อง จิตตการจุดธูปแล้วแบ่งให้ญาติผู้เสียชีวิต หีบศพขาวสะอาดประดับลวดลายเทพนมตั้งอยู่บนพื้นหน้าพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ทันทีที่เห็นใบหน้าสงบของมารดา เด็กหนุ่มถึงกับปล่อยโฮ ขณะที่จิตตการกล่าวนำอย่างไม่วอกแวก จากนั้นจึงบรรจุร่างของนางลงในหีบศพ พิธีกินเวลาไม่ถึงห้านาที แล้วทุกคนก็จากไป พร้อมกับควันธูปจางๆที่ลอยหายไป
“วันสต็อปเซอร์วิส” จิตตการเรียกงานของเขาว่าอย่างนั้น บริการที่เขานำมาให้ถึงในโรงพยาบาลนั้น ครอบคลุมทุกอย่างเกี่ยวกับคนตาย ตั้งแต่นำศพออกจากตึก ตู้แช่ศพ ติดต่อประสานญาติผู้เสียชีวิต อาบน้ำ-แต่งหน้า-ฉีดยาศพ เดินเรื่องเอกสาร จัดหาหีบศพ รถตู้ขนส่ง ไปจนถึงดอกไม้ประดับหน้างานศพ พ่อค้าวัย 34 ปี หนึ่งในทีมงานของสุริยาหีบศพ เจ้าแห่งธุรกิจหลังความตายระดับประเทศผู้นี้ เล่าว่า เขาขายดอกไม้หน้าศพได้เดือนละแสนกว่าบาท ส่วนหีบศพตกอยู่เดือนละประมาณห้าแสนบาท ฟังตัวเลขแล้วผมตาวาว แต่เขากลับบอกว่า “นี่ยังน้อยกว่าที่ขายได้หน้าร้านอีกครับ”
ธุรกิจหลังความตาย เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เนื้อหอมที่สุดในยุคนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้เมื่อปี 2549 ว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานศพมีเม็ดเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าปีละ 35,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“เรื่องตายนี่เป็นเรื่องเดียวที่สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ” สมชาย สุริยเสนีย์ ผู้ก่อตั้งสุริยาหีบศพ เปรยขึ้น คงไม่มีใครปฏิเสธว่า สุริยาหีบศพคือหนึ่งในเจ้ายุทธจักรของวงการนี้ ชื่อเสียงอันโด่งดังมาจากวิธีคิดอัน ชาญฉลาดของชายชราชาวจีนแซ่ตั้งผู้นี้ ที่รู้จักต่อยอดให้ธุรกิจหีบศพ โดยครอบคลุมทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ฉีดยาศพไปจนถึงกระถางธูปหน้าศพเลยทีเดียว
ความสำเร็จตลอดสามสิบกว่าปีที่ผ่านมาเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า อาชีพที่หาคนทำได้ยากในอดีตนี้ตรงหลักสูตรตำรา“รวยเร็ว” จึงไม่แปลกที่จะมีคนหันมาทำอาชีพนี้มากขึ้นเรื่อยๆ “เดี๋ยวนี้คนทำเยอะ ก็มันง่ายไง เด็กวัดก็ทำได้ พระสึกไปก็เยอะ พอเห็นเงินก็ตาโตกัน” สมชายเล่า
ขณะเดียวกัน ความเชื่อทางศาสนามีอิทธิพลต่อทัศนคติเรื่องความตายของมนุษย์มาช้านาน เราจึงพบว่าศาสนาที่แตกต่างกันจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบพิธีศพ และส่งผลต่อทิศทางธุรกิจหลังความตายไปในตัว ผมพบว่า พิธีศพของชาวมุสลิมนั้นเรียบง่ายและประหยัด ต่างจากพิธีศพของชาวไทยพุทธร่วมสมัยที่มีขั้นตอนซับซ้อนและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ไม่แตกต่างจากพิธีศพแบบจีน
ขั้นตอนและธรรมเนียมที่แตกต่างหลากหลายเหล่านี้นี่เองที่เอื้อให้เกิดช่องทางธุรกิจมากมาย เช่น ดอกไม้และพวงหรีด อาหารเลี้ยงแขกเหรื่อ มหรสพเฉลิมฉลอง พิธีกงเต็ก ไปจนถึงการสร้างสุสานหรือฮวงซุ้ยสำหรับผู้วายชนม์เป็นต้น
ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในอดีต ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อวิวัฒนาการของงานศพ เช่นที่พบเห็นในในปัจจุบัน ชนชั้นสูงในอดีตมักจัดงานศพใหญ่โตเพื่อแสดงเกียรติยศ ส่งผลให้ชนชั้นที่ต่ำกว่าเกิดแรงปรารถนาลอกเลียนแบบ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป และชนชั้นคหบดีเริ่มมั่งคั่งขึ้น เราจึงพบว่างานศพใหญ่โตหรูหรา มิได้จำกัดเฉพาะชนชั้นสูงอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทุนนิยมที่ฟู่ฟ่าในปัจจุบัน กลับทำให้เกิดกำแพงกีดกันทางเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งงานศพก็หนีไม่พ้นกฎเกณฑ์ข้อนี้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ งานศพในปัจจุบันจึงแตกต่างกันไปโดยมีปัจจัยด้านการเงินของเจ้าภาพเป็นเงื่อนไขสำคัญ
งานศพสองแห่งที่ผมเห็นความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด งานแรกคืองานศพหญิงชราชาวไทยเชื้อสายจีนที่ลูกๆจัดงานศพแบบไทยให้อย่างวิจิตรอลังการ ทั้งก่อสร้างเมรุชั่วคราว โขน ลิเก มหรสพครบองค์ โดยใช้งบประมาณมากกว่าครึ่งล้าน อีกงานคืองานฌาปนกิจศพของหัวหน้าครอบครัวรายหนึ่งที่เสียชีวิตจากหัวใจวาย แม้จะมีเชื้อสายจีน แต่ครอบครัวฝ่ายหลังกลับเลือกจัดงานเรียบง่าย ในวัดที่ผู้ตายผูกพัน งบประมาณจัดงานอยู่ที่หลักครึ่งแสน
นอกเหนือจากฐานะทางเศรษฐกิจแล้ว ทัศนคติของเจ้าภาพก็มีส่วนในการกำหนดรูปแบบงานศพ เจ้าภาพงานแรกบอกผมว่า ผู้ตายมีบุญคุณใหญ่หลวงต่อลูกหลาน จึงควรจัดงานให้อย่างสมฐานะที่สุด ขณะที่งานหลัง เจ้าภาพเลือกที่จะหลีกเลี่ยงความสิ้นเปลืองบางอย่างที่มองว่าไม่จำเป็น แต่ก็พยายามให้งานออกมา สมฐานะที่เจ้าภาพบอกว่าระดับ “กลางๆ”
แม้ว่างานศพทั้งสองตัวอย่างข้างต้น ได้ช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ไม่ว่าจะจัดมากหรือจัดน้อย เราก็ยังพบว่า บ่อยครั้งที่งานศพอาจเป็นภาระทางการเงินของครอบครัว จนถึงขนาดต้องกู้หนี้ยืมสินมาจัดงาน ปัญหาเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ และทีมนักวิจัยจากลำปาง หวังที่จะเปลี่ยนทัศนคติของผู้คน โดยเริ่มในชุมชนที่เขารู้จักและคุ้นเคยที่บ้านไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
ทั้งๆที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่มีฐานะยากจน แต่เขากลับพบว่าในงานศพแบบล้านนาและวิถีชีวิตของชาวบ้าน ธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างเป็นเรื่องสิ้นเปลืองโดยไม่สมเหตุสมผล เช่น การเลี้ยงสุราในงานศพ การประกอบอาหารที่มากเกินความจำเป็น การแสดงดนตรี การใช้โครงปราสาท เป็นต้น ทำให้งานศพงานหนึ่งอาจใช้งบประมาณถึงสองสามแสนบาทก็มี
ทีมวิจัยจึงเลือกประเด็นการจัดงานศพที่เน้นประหยัดแต่เกิดประโยชน์ เช่น ลดสุราในงานเลี้ยง ลดจำนวนวันเก็บศพ งดการใช้โครงปราสาทชั่วคราว แน่นอน งานวิจัยท้าทายจารีตชิ้นนี้ ได้รับการต่อต้านในระยะแรก แต่เมื่อทีมวิจัยแสดงให้เห็นว่า พวกเขาทำเพื่อประโยชน์ของชาวบ้านจริงๆ จึงได้รับการยอมรับมากขึ้น จนนำไปสู่กรอบข้อตกลงระดับชาวบ้านที่เห็นพ้องต้องกันในการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในงานศพ
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยรู้ดีว่าโมเดลของพวกเขายังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในสังคมที่ต่างออกไป เพราะงานศพเป็นกิจกรรมทางสังคมที่มีแรงกดดันจากรอบข้างสูง การนำกรอบข้อตกลงดังกล่าวไปใช้จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงทัศนคติ ค่านิยม และความเข้าใจของญาติพี่น้องเป็นสำคัญ ในสังคมที่ซับซ้อนเช่นสังคมเมือง เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจหลังความตายจึงยังเป็นธุรกิจทวนกระแสที่ทำเงินได้แม้ในยามเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นทุกวันนี้
ผมกลับไปหาจิตตการอีกครั้ง วันนี้เขารับศพทั้งหมดสี่ศพ ขายหีบได้สามใบ อีกรายใช้บริการส่งศพถึงภูมิลำเนาในต่างจังหวัด “นี่นามบัตรผม เดี๋ยวไปรับศพข้างนอกเลยครับ” เขากล่าวกับลูกค้ารายหนึ่งด้านนอก บรรดาญาติผู้ตายยืนออกันหน้าห้อง บางคนร่ำไห้ด้วยความอาลัย บางคนซึมเศร้าด้วยความโศกา จิตตการทำพิธีอย่างเคย ไม่ถึงห้านาที ทุกอย่างก็ปลิวไปพร้อมควันธูป
เขากลับมาที่โต๊ะทำงาน เปิดลิ้นชัก หยิบเงินออกมานับเพื่อทำบัญชีรายรับรายจ่าย “นี่ก็อีกงานครับ ต้องทำบัญชี ปัญหาเยอะ ครบบ้าง ขาดบ้าง” เขาเปรย คำพูดหนึ่งผุดขึ้นในความคิดผม “นี่สินะที่เขาว่า คนตายเลี้ยงคนเป็น”
http://www.nationalgeographicthai.com/ngm/0905/feature.asp?featureno=6
ผู้สนับสนุน + ผู้สนับสนุน
+ รับผู้สนับสนุน

แนะนำเว็บใหม่ : ผลการจัดอันดับ
รักลำปาง : thcity.com : korattown.com : topsiam.com : มหาวิทยาลัยโยนก
ศูนย์สอบ : รวมบทความ : ไอทีในชีวิตประจำวัน : ดาวน์โหลด : yourname@thaiall.com
ติดต่อ ทีมงาน ชาวลำปาง มีฝันเพื่อการศึกษา Tel.08-1992-7223