การวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ บ้านร่มเย็น หมู่ 8 ต.นิคมพัฒนา อ.เมือง จ.ลำปาง
ทีมวิจัยที่เกิดจากตัวแทนในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในจังหวัดลำปางจำนวน 5 สถาบัน ได้แก่ มจร. มทร. มรภ. กศน. และมนช. (มยน. เดิม) ร่วมกับตัวแทนจากชุมชน ทั้งผู้นำ ครู และชาวบ้าน เป็นคณะทำงานชุดใหญ่ แต่เมื่อลงไปทำงานก็พบว่าขนาดของทีมเป็นทั้งจุดเด่น และจุดด้อยไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการลงไปทำงานในชุมชนขนาดเล็ก เพราะมีประชากรประมาณ 100 หลังคาเรือน และการเป็นชุมชนที่เกิดจากการย้ายถิ่นที่รับผลจากการสร้างเขื่อนกิ่วลม ทำให้จารีตประเพณีในชุมชนต่างจากชุมชนอื่นที่ลงหลักปักฐานมานับร้อยปี ความเหนียวแน่นของเครือญาติ และศิลปวัฒนธรรม จึงไม่เด่นชัด ทำให้ทีมวิจัยต้องใช้เวลาเรียนรู้ และค้นหาตัวตนที่แท้จริงร่วมกับชุมชนให้กระจ่างชัด
จุดเด่นของทีมที่มีขนาดใหญ่ คือ การลงพื้นที่ในแต่ละครั้งจะมีตัวแทนจากทุกสถาบันเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จึงมีกำลังของทีมมากพอที่จะทำให้เกิดความคิดที่หลากหลาย และมุ่งไปสู่เป้าหมายของแต่ละกิจกรรมได้ชัดเจน ส่วนจุดด้อยที่พอจะมองเห็นคือการหมุนเวียนสลับผลัดเปลี่ยนตัวแทนนักวิจัยจากแต่ละสถาบันเข้าไปในแต่ละกิจกรรม ทำให้การเชื่อมประสานข้อมูลจากแต่ละเวทีไม่ราบรื่น ทำให้ต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งในการทบทวน ทำความเข้าใจกิจกรรมที่ผ่านมา ชี้แจงเป้าหมายในการหารือ และต้องเรียนรู้ข้อค้นพบที่เข้ามาใหม่จากแต่ละเวทีที่จำเป็นต้องใช้ในการกำหนดแนวทางการทำงานสำหรับเวทีต่อไป
พี่เลี้ยง และผู้ช่วยนักวิจัย เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้การทำงานของทีมที่มีขนาดใหญ่สามารถขับเคลื่อนไปได้ และความร่วมมือของนักวิจัยในพื้นที่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำงานในช่วงที่ผ่านมาราบรื่น เพราะมีการลงไปทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด จนคนในชุมชนเข้าใจเป้าหมายของการเข้าไปทำงานของนักวิชาการที่มาจากภายนอก นำไปสู่การยอมรับ และการรวมกลุ่มของกลุ่มที่มีปัญหาได้สำเร็จในที่สุด
http://www.facebook.com/media/set/?set=a.10150430198513895.379656.814248894&type=3