Lampang logo 2560
ได้รับแจ้งจาก คุณชิตพร พูลประสิทธิ์
ให้ปรับโลโก้ใหม่ เมื่อ 20 ธันวาคม 2560
ประวัติศาสตร์จังหวัดลำปาง
จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดที่มีความเก่าแก่และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาแล้วไม่น้อยกว่า 1,300 ปี ตั้งแต่สมัยหริภุญชัย (พระนางจามเทวี) เป็นต้นมา คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 13 ชื่อของเมืองเขลางค์อันเป็นเมืองในยุคแรก ๆ และเมืองนครลำปาง ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ทั้งจากตำนานศิลาจารึกพงศาวดาร และจากคำที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปอย่างแพร่หลาย ได้แก่ตำนานจามเทวี ชินกาลบาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเจ้าเจ็ดตน พงศาวดารโยนก
คำว่า ‘”ละกอน” หรือ “ละคร” (นคร) เป็นชื่อสามัญของเมืองเขลางค์ที่นิยมเรียกกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในตำนานและภาษาพูดโดยทั่วไป แม้แต่จังหวัดใกล้เคียงเช่น แพร่ น่าน เชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ มักจะเรียกชาวลำปางว่า “จาวละกอน” ซึ่งหมายถึง ชาวนคร คำว่าละกอนมีชื่อทางภาษาบาลีว่า เรียกว่า “เขลางค์ “เช่นเดียวกับ ละพูรหรือลำพูน ซึ่งทางภาษาบาลีเรียกว่า “หริภุญชัย”และเรียกลำปางว่า “ลัมภกัปปะ” ดังนั้น เมืองละกอนจึงหมายถึง บริเวณอันเป็นที่ตั้งของเมืองเขลางค์ คือเมืองโบราณรูปหอยสังข์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง อยู่ในตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
ส่วนคำว่า”ลำปาง” เป็นชื่อที่ปรากฎหลักฐานอย่างชัดแจ้งในตำนานพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “ลัมภกัปปนคร” ตั้งอยู่บริเวณลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศใต้ตามแม่น้ำวังประมาณ 16 กิโลเมตร อันเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน ตัวเมืองลัมภกัปปนครมีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่
ลักษณะของเมือง ศึกษาดูจากภาพถ่ายทางอากาศและการเดินสำรวจทางภาคพื้นดิน พบว่ามีคันคูล้อมรอบ 3 ชั้น (แต่ปัจจุบันเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้น) นอกจากนี้พบเศษกระเบื้อง ภาชนะดินเผา เศียรพระพุทธรูปดินเผาสมัยหริภุญชัยและสถูปแบบสมัยหริภุญชัย สันนิษบานว่าเมืองลัมภกัปปะนี้น่าจะเป็นเมืองกัลปนาสงฆ์ (เมืองทางศาสนา) มากกว่าจะเป็นเมืองทางอาณาจักรที่มีอำนาจทางการปกครองบ้านเมืองอย่างเป็นระเบียบแบบแผน
ตามตำนาน วัดพระธาตุลำปางหลาง (ฉบับสาขาสมาคม เพื่อการรักษาสมบัติวัฒนธรรมประจำจังหวัดลำปาง) ได้กล่าวถึงเรื่องราวของเมืองลำปางไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จด้วยลำดับบ้านใหญ่เมืองน้อย ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าไปรอดบ้านอันหนึ่งชื่อ ลัมพการีวัน พระพุทธเจ้านั่งอยู่เหนือดอยม่อนน้อย สูงสะหน่อย ยังมีลัวะ ชื่ออ้ายคอน มันหันพระพุทธเจ้า เอาน้ำผึ้งใส่กระบอกไม้ป้างมาหื้อทานแก่พระพุทธเจ้า กับหมากพ้าว 4 ลูก พระพุทธเจ้ายื่นบอกน้ำเผิ้งหื้อแก่มหาอานนท์ถอกตกปากบาตร พระพุทธเจ้าฉันแล้ว ชัดบอกไม้ไปตกหนเหนือ แล้วพระพุทธเจ้าทำนายว่า สถานที่นี้จักเป็นเมืองอันหนึ่งชื่อ “ลัมภางค์”
ดังนั้นนามเมืองลำปาง จึงหมายถึงชื่อของเมืองอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน
จังหวัดลำปางเดิมชื่อ “เมืองนครลำปาง” จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ ศิลาจารึก เลขทะเบียน ลป.1 จารึกเจ้าหมื่นคำเพชรเมื่อ พ.ศ.2019 และศิลาจารึกเลขทะเบียน ลป.2 จารึกเจ้าหาญสีทัต ได้จารึกชื่อเมืองนี้ว่า “ลคอร” ส่วนตำนานชินกาลมารีปกรณ์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเมืองเชียงแสน ตลอดจนพงศาวดารของทางฝ่ายเหนือ ก็ล้วนแล้วแต่เรียกชื่อว่า เมืองนครลำปาง แม้แต่เอกสารทางราชการสมัยรัตนโกสินตอนต้น ก็เรียกเจ้าเมืองว่า พระยานครลำปาง นอกจากนี้จารึกประตูพระอุโบสถวัดบุญวาทย์วิหาร ก็ยังมีข้อความตอนหนึ่งจารึกว่า เมืองนครลำปาง แต่เมื่อมีการปฏิรูปบ้านเมืองจากมณฑลเทศาภิบาลเป็นจังหวัด ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 ปรากฏว่า ชื่อของเมืองนครลำปาง ได้กลายมาเป็นจังหวัดลำปาง มาจนกระทั่งทุกวันนี้
ประวัติความเป็นมาของเมืองนครลำปาง
เรื่องราวของเมืองนครลำปางในยุคแรกๆ หรือยุคเมืองเขลางค์นั้น ส่วนใหญ่ทราบหลักฐานในตำนาน ชินกาลบาลีปกรณ์ ซึ่งได้กล่าวถึงประวัติการสร้างเขลางค์ ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ว่า
ในราว พ.ศ.1200 พระสุเทวฤษี ซึ่งอาศัยอยู่ที่ดอยสุเทพได้เชิญชวนให้พระสุกทันตฤษีแห่งละโว้ มาช่วยกันสร้างเมืองนครหริภุญชัย เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงไปทูลขอผู้ปกครองจากพระเจ้านพราชกษัตริย์แห่งละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งได้ประทานพระนางจามเทวี ราชธิดาให้มาเป็นผู้ปกครอง พร้อมกับนำพระภิกษุสงฆ์ผู้รอบรู้ในพระไตรปิฎก พรามณ์โหรา นักปราชญ์ราชบัณฑิต แพทย์ ช่างฝีมือ เศรษฐี คหบดีอย่างละ 500 คนมาด้วย ขณะนั้นพระนางทรงครรภ์ เมื่อมาถึงได้ราว 3 เดือน ก็ประสูติพระโอรสฝาแฝด ผู้พี่ทรงพระนามว่า “เจ้ามหันตยศกุมาร” ส่วนผู้น้องทรงพระนามว่า “เจ้าอนันตยศกุมาร” เมื่อพระโอรสทั้ง 2 ทรงเจริญวัยขึ้น ประกอบกับพระนางชราภาพมากแล้ว จึงได้ทำพิธีราชาภิเษกให้ เจ้ามหันตยศกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ ครองเมืองหริภุญชัย ส่วนเจ้าอนันตยศกุมารทรงดำรงตำแหน่ง อุปราช
ตำนานเล่าว่า เมื่อพระนางจามเทวีได้ราชาภิเษก ให้เจ้ามหันตยศกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองหริภุญชัยแล้ว ฝ่ายเจ้าอนันตยศกุมารก็ปรารถนาอยากไปครองเมืองแห่งใหม่ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้พระมารดาได้ทรงทราบ พระนางทรงแนะนำให้ไปหา ฤษีวาสุเทพ เพื่อขอให้สร้างเมืองถวาย แต่ฤษีวาสุเทพได้แนะนำให้ไปหาพรานเขลางค์ซึ่งอยู่ที่ภูเขาบรรพต ดังนั้นพระเจ้าอนันตยศจึงพาข้าราชบริพารเสด็จออกจากหริภุญชัยไปยังเขลางค์บรรพต ครั้นเมื่อพบพรานเขลางค์แล้ว ก็ทรงขอให้นำไปพบพระสุพรหมฤษีบนดอยงามหรือภูเขาสองยอด แล้วขออาราธนาช่วยสร้างบ้านเมืองให้ พระสุพรหมฤษีจึงขึ้นไปยังเขลางค์บรรพตเพื่อมองหาชัยภูมิสร้างเมือง เมื่อมองไปทางยังทิศตะวันตกของแม่น้ำวังกนที ก็เห็นสถานที่แห่งหนึ่งเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม จึงได้สร้างเมืองขึ้นที่นั่น โดยกำหนดให้กว้างยาวด้านละ 500 วาแล้วเอาศิลาบาตรก้อนหนึ่งมาตั้งเป็นหลักเมืองเรียกว่า “ผาบ่อง” เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงขนานนามตามชื่อ ของนายพระหมผู้นำทางและมีส่วนร่วมในการช่วยสร้างเมืองว่า “เขลางค์นคร” และยังมีชื่อเรียกในตำนานกุกุตนครว่า”ศิรินครชัย” อีกนามหนึ่ง
ภายหลังสร้างเมืองแล้วเสร็จ พระเจ้าอนันตยศได้ทรงราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า “พระเจ้าอินทรเกิงการ” พระองค์ครองเมืองเขลางค์อยู่ได้ไม่นาน ก็ทรงมีความรำลึกถึงมารดา จึงได้ทูลเชิญเสด็จพระนางจามเทวี พร้อมทั้งสมณชีพราหมณ์ มายังเมืองเขลางค์นคร ทรงสร้างเมืองให้พระราชมารดาประทับอยู่เบื้องปัจฉิมทิศแห่งเขลางค์นคร ให้ชื่อว่า “อาลัมพางค์นคร”
เรื่องราวเกี่ยวกับที่ตั้งของเมืองเขลางค์นคร
เมื่อสำรวจผังเมือง จากภาพถ่ายทางอากาศและการสำรวจภาคพื้นดิน รวมทั้งการศึกษาเรื่องราวในตำนานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเมืองเขลางค์พบว่า ผังเมืองอันเป็นที่ตั้งของเมืองเขลางค์แบ่งออกเป็น 3 ยุคได้แก่
ยุคแรกยุคสมัยจามเทวี
ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงเหนือ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1223 โดยพระสุพรหมฤษีสร้างถวายพระเจ้าอนันตยศกุมารหรือ อินทรเกิงการ โอรสของพระนางจามเทวี เป็นเมืองคู่แฝดของเมืองหริภุญชัย ผังเมืองมีลักษณะคล้ายรูปหอยสังข์ (สมุทรสังขปัตตสัณฐาน) กำแพงเมืองชั้นบนเป็นอิฐ ชั้นล่างเป็นคันดิน 3 ชั้น สันนิษฐานว่ากำแพงอิฐที่สร้างบนกำแพงดินเป็นการต่อเติมในสมัยหลัง มีความยาววัดโดยรอบ 4,400 เมตร สร้างในพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ มีประตูเมืองสำคัญ ๆ ได้แก่ ประตูม้า ประตูผาป่อง ประตูท่านาง ประตูต้นผึ้ง ประตูป่อง ประตูนกกดและประตูตาล
ปูชนียสถานที่สำคัญได้แก่ วัดพระแก้วดอนเต้า ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ระหว่าง พ.ศ. 1979 – 2011 นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานสำคัญอีกหลายแห่งได้แก่ วัดอุโมงค์ซึ่งเป็นวัดร้าง อยู่บริเวณประตูตาล ส่วนวัดที่อยู่นอกกำแพงเมืองได้แก่ วัดป่าพร้าว อยู่ทางด้านเหนือ วัดพันเชิง วัดกู่ขาวหรือเสตกุฎาราม ซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระสิกขีปฏิมากร ในสมัยพระนางจามเทวี วัดกู่แดง วัดกู่คำ อยู่ทางทิศตะวันตก ในปัจจุบันนี้บริเวณวัดพันเชิงและวัดกู่แดง ถูกทำลายจนไม่เหลือสภาพของโบราณอยู่อีกต่อไป ระหว่างวัดกู่ขาวมายังเมืองเขลางค์มีแนวถนนโบราณ ทอดเข้าสู่ตัวเมืองทางประตูตาล สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ขณะมาประทับอยู่ในเขลางค์นคร แนวถนนโบราณนี้ยังใช้เป็นคันกั้นน้ำป่าเพื่อทดน้ำเข้าสู่คูเมืองและแบ่งเข้า ไปใช้ในตัวเมืองด้วย ระดับคูน้ำจะสูงกว่าแม่น้ำสายใหญ่ เมืองในยุคนี้มีการเก็บน้ำไว้ในคอรอบทิศ โดยให้มีระดับสูงกว่าแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลผ่านบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นแบบเฉพาะเมืองรูปหอยสังข์ยุคนี้เท่านั้น
เมืองเขลางค์เป็นเมืองคู่แฝดกับเมืองหริภุญชัย มีชื่อในตำนานว่า เมืองละกอน หรือลคร ภายหลังจากสมัยพระเจ้าอนันตยศแล้ว สภาพของเมืองฝาแฝดกับหริภุญชัยก็หมดไป สันนิษฐานว่า เขลางค์นครมีเจ้าผู้ครองต่อมาอีกประมาณ 500 ปีแต่ไม่ปรากฏพระนามในหลักฐานหรือเอกสารใดๆ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 1755 ได้ปรากฏชื่อของเจ้านายเมืองเขลางค์พระองค์หนึ่งมีพระนามว่า เจ้าไทยอำมาตย์แห่งเขลางค์ ได้แย่งชิงอำนาจจากพระยาพิณไทย เจ้าเมืองลำพูนแล้วสถาปนาพระองค์ปกครองหริภุญชัยสืบต่อกันมาถึง 10 รัชกาล จนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบา ก็สูญเสียอำนาจให้แก่พระยามังราย ใน พ.ศ. 1844
ยุคที่สองสมัยลานนาไทย
เมืองเขลางค์ยุคที่ 2 เป็นเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยลานนาไทย มีเนื้อที่ประมาณ 180 ไร่ กำแพงยาว 1,100 เมตร ตั้งอยู่ในตำบลเวียงเหนือ อยู่ถัดจากเมืองเขลางค์ยุคแรกลงมาทางใต้ เป็นเมืองที่ก่อกำแพงด้วยอิฐ ประตูเมืองที่มีชื่อปรากฏคือ ประตูเชียงใหม่ ประตูนาสร้อย ประตูปลายนาอันเป็นประตูที่อยู่ร่วมกับประตูนกกต ตอนท่อนหัวสังข์ของตัวเมืองเก่าและประตูป่อง ที่ประตูป่องยังคงมีซากหอรบรุ่นสมัยเจ้าคำโสมครองเมืองลำปาง ซึ่งได้ใช้เป็นปราการต่อสู้กับพม่าครั้งสำคัญ ในปี พ.ศ. 2330 พม่าล้อมเมืองอยู่เป็นเวลานาน จนกระทั่งกองทัพทางกรุงเทพฯ ยกขึ้นมาช่วยขับไล่พม่าแตกพ่ายไป
โบราณสถานสำคัญในเมืองเขลางค์ยุคที่ 2 ได้แก่วัดปลายนาซึ่งเป็นวัดร้างและวัดเชียงภูมิ หรือวัดปงสนุกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อลิ้นก่านที่ดำน้ำชิงเมืองแข่งกับเจ้าฟ้าหลวง ชายแก้ว (บิดาของเจ้า 7 ตน) แต่เจ้าลิ้นก่านแพ้จึงถูกพม่าประหารชีวิต สันนิษฐานว่าพระเจ้าลิ้นก่านคงจะเป็นเจ้าสกุลล้านนาไทยองค์สุดท้ายที่อยู่ใน เมืองเขลางค์
เมืองเขลางค์สมัยลานนาไทย ได้รวมเอาเมืองเขลางค์ยุคแรก (เมืองรูปหอยสังข์) กับเมืองเขลางค์ยุคใหม่เช้าด้วยกัน ตั้งอยู่เขตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง ซึ่งเรียกกันอย่างแพร่หลายในตำนานต่าง ๆ ของทางเหนือว่า”เมืองละกอน”
ความสำคัญของเมืองละกอนในสมัยราชวงศ์เม็งราย (พ.ศ.1839 – 2101)
เมื่อพระเจ้าเม็งรายสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานี ในปี พ.ศ.1839 แล้ว ได้แผ่ขยายอิทธิพลมาครอบครองลำพูนและเมืองลคร (เขลางค์) กล่าวคือในพ.ศ. 1844 พระเจ้าเม็งรายโปรดให้ขุนคราม โอรส ยกกองทัพไปตีเมืองลำพูน พระยายีบาสู้ไม่ได้ จึงอพยพหนีมาพึ่งพระยาเบิกพระอนุชาที่เมืองลคร (เขลางค์) กองทัพของพระเจ้าเม็งรายซึ่งมีขุนครามเป็นแม่ทัพ ได้ยกติดตามมาประทะกับกองทัพของพระยาเบิกที่ริมน้ำแม่ตาล ปรากฏว่าพระยาเบิกเสียชีวิตในการสู้รบ ส่วนพระยายีบาเจ้าเมืองลำพูน ได้พาครอบครัวหนีไปพึ่งเจ้าเมืองสองแคว (พิษณุโลก ) ประทับอยู่ที่นั่นจนสิ้นพระชนม์ จึงสิ้นวงศ์เจ้าผู้ครองเขลางค์ยุคแรก
ส่วนเรื่องราวในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า ภายหลังจากที่พระเจ้าเม็งรายได้รับชัยชนะต่อพระยาเบิกแล้ว ได้แต่งตั้งชาวมิลักขะเป็นเจ้าเมืองแทน เจ้าเมืองคนใหม่พยายามชักชวนชาวเมืองเขลางค์สร้างเมืองใหม่ ซึ่งกลายเป็นเมืองเขลางค์ยุค 2 หลังจากนี้ก็มีเจ้าผู้ครองนครซึ่งมียศเป็นหมื่นปกครองสืบต่อกันมา เป็นเวลานาน จนกระทั่งสิ้นราชวงศ์เม็งราย พม่าก็แผ่อิทธิพลเข้ามาแทนที่ในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง
เมืองนครลำปางเป็นหัวเมืองสำคัญของลานนาไทยมาจนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าแห่งหงสาวดีได้แผ่อำนาจเข้าครอบครองลานนาไทยใน พ.ศ. 2101 ซึ่งสัญลักษณ์แห่งอำนาจของบุเรงนองยังปรากฏอยู่ทั่วไป ได้แก่ไม้แกะสลักรูปหงส์ประจำวัดต่าง ๆ (หมายถึงหงสาวดี) นับตั้งแต่นั้นมา นครลำปางตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าเป็นเวลานานร่วม ๆ 200 ปีเศษ (พ.ศ.2101 – 2317) และบางครั้งก็อยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยาบ้างเช่น สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นต้น
“ถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น เครื่องปั่นลือนาม
งามพระธาตุลือไกล ฝึกช้างใช้ลือโลก”
รหัสโทรศัพท์ 054
รหัสไปรษณีย์ 52000
พื้นที่ 12,533,961 ตารางกิโลเมตร ห่างจาก กทม. 599 กิโลเมตร
ประชากร 777,277 คน ชาย 384,324 คน หญิง 392,953 คน
เขตการปกครอง 13 อำเภอ 100 ตำบล 895 หมู่บ้าน
เทศบาล 17 แห่ง อบต. 86 แห่ง
อาชีพหลัก / รอง ทำนา ทำไร่ ทำสวนผักและผลไม้ เลี้ยงสัตว์ ทำเหมืองไร่ลิกไนต์
https://web.archive.org/web/20190127075614/http://www.lampang.go.th/lamp.html