Category Archives: person

หนังสือ ประวัติและผลงาน ของ อ.ศักดิ์ สักเสริญ รัตนชัย

ประวัติและผลงาน ของ อ.ศักดิ์ สักเสริญ รัตนชัย

E-book

หนังสือ ประวัติและผลงาน ของ อ.ศักดิ์ สักเสริญ รัตนชัย ในแบบอีบุ๊กที่ อ.ตาลทิพย์ แก้วกำเนิด หรือ อ.เจี๊ยบ ที่เคารพของศิษย์เก่ารุ่นแรก ของ วิทยาลัยโยนก เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ได้อนุญาตให้ผมได้ทำเป็นอีบุ๊ก เผยแพร่เป็นสาธารณะให้เยาวชนได้เรียนรู้ผลงาน และวิถีแห่งปราชญ์ด้านศิลปวัฒนธรรม ที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับระดับชาติ และมีผลงานมากมายหลายรูปแบบ ให้ได้อ่าน ได้ฟัง ได้ดู และปรับใช้สำหรับตน

โดยหนังสือที่นำมาทำอีบุ๊ก ได้รับความอนุเคราะห์ให้ยืมเล่มจาก อ.ป้อม หรือ อ.อาภาพร ซึ่ง อ.ศักดิ์ เคยขึ้นภาพ อ.ป้อม เป็นภาพปกคนแรกของข่าวออนไลน์ชื่อ #สกุลเมือง และผมไม่ได้ตัดปกเพื่อนำเข้าเครื่องสแกนแบบฟีดอัตโนมัติ แต่แกะแม็คแล้วใช้โทรศัพท์บันทึกภาพทีละหน้า แล้วนำเอกสารมาประกอบกลับให้เหมือนเดิม เพื่อนำไปคืน อ.ป้อม ประกอบกับร่างกายที่ไม่แข็งแรงเหมือนตอนหนุ่ม จึงทำให้งานอีบุ๊กมีแสงและเงาที่ไม่คมเหมือนเล่มเอกสาร

ได้ปรับอีบุ๊กโดยเพิ่มเติมเนื้อหาจากเล่มเอกสารอยู่ก่อนปกหลัง เป็นคำนิยมของหลายท่าน เช่น ท่านพุทธทาสที่ได้เขียนให้กับหนังสือแก้วตาแม่ ของ อ.ศักดิ์ ซึ่ง อ.เจี๊ยบ ได้ส่งภาพเพิ่มเติม แล้วโทรมาเล่าเรื่องราวของหนังสือที่นำไปทำละครเวที และพูดถึงผลงานเพลงที่ท่านได้แต่งไว้ ทำให้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้ยังมีเนื้อหาประวัติและผลงานที่น่าเติมเต็มได้อีกมาก

นอกจากนี้มีผู้เกี่ยวข้อง สื่อทุกสำนัก สมาคม องค์กร มหาวิทยาลัย อาจารย์ นักศึกษา และชาวลำปาง ที่ร่วมกันไว้อาลัยการจากไปของ อ.ศักดิ์ มีการพูดถึงผลงานของท่านในสื่อสังคมอย่างแพร่หลาย เช่น เพลงร่ำเปิงลำปาง  หนังสือการ์ตูนเมตตาธรรมค้ำจุนโลกา เรื่องแก้วตาแม่ และด้วยผลงานมากมายตลอด 95 ปีของท่าน ซึ่งการรวบรวมผลงานในเวลาอันสั้นแล้วนำไปถ่ายเอกสารออกมาเป็นรูปเล่มเอสีเกือบร้อยหน้า ที่มีคณะผู้จัดทำ คือ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง และลูกหลาน ดูจะเล่มเล็กเกินไปที่จะบอกเล่าผลงานของท่านได้ทั้งหมด

หากผู้สนใจต้องการตามรอยวิถีปราชญ์ของท่าน ต้องลองอ่านหนังสือดูครับ แล้วมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้ ซึ่งเชื่อว่า ถ้าผู้อ่านได้อ่าน ค้น และติดตามผลงานของท่านต้องมีอึ้งกันบ้างหละ เพราะผลงานแน่นทั้งปริมาณและคุณภาพจริงครับ

คลิกเพื่อเปิด e-book
ถ่ายภาพ

อ่านเพิ่มเติม

กำหนดการ

หนังสือ ประวัติและผลงาน ของ… by บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

งานขาวดำ พบเพื่อน ม.ปลาย

เล่าเรื่องเพื่อน

งานขาวดำ ปลาย ส.ค.65

ร่วมทำบุญกับเพื่อน

ข่าวเศร้าของคุณแม่เพื่อนสมัยมัธยม
ข่าวเศร้าของลูกศิษย์
ข่าวเศร้าของ #ผู้สูงอายุ ในหมู่บ้าน
ช่วงนี้มีข่าวเศร้าเยอะมาก
ขอแสดงความเสียใจอีกครั้ง
กับทุกการสูญเสียคนอันเป็นที่รัก
ในงานของคุณแม่ของเพื่อน
เรามีโอกาสแลกเปลี่ยนเรื่องการเจ็บป่วย
แต่ละคนก็จะมีประสบการณ์ต่างกัน
สิ่งหนึ่งที่ตรงกัน คือ อาการทางสมอง
พวกเรารู้จักหมอที่ตรงข้ามวัดเชียงราย
มีท่านเดียวที่ใคร ๆ ก็ไปรักษาที่นั่น
หลายท่านทานยาต่อเนื่อง
แล้วคงอาการไว้ ก็จะไม่ทรุดจากสมอง
แต่ในร่างเรามี-อ-วัย-วะ-เยอะมาก
ตั้งแต่หัวจรดเท้า ทุกส่วนน่าเป็นห่วงหมด
โดยเฉพาะคำว่า เฉียบพลัน
ตับ ไต ใส้ พุง นี่อักเสบแล้วจะอันตราย
คุยกับเพื่อนว่าเรามักพบกันในงานเศร้า
ดีใจที่อายุมากขึ้น ก็ได้กลับมาพบกัน
แต่ไม่ควรเป็นงานแบบนี้เลย
ในอีก 20 – 50 ปี
จะเป็นอย่างไรบ้างนะ
นี่ถ้าผมอายุสักร้อยปี (คาดว่าจะอยู่ยาว)
อนาคตจะเป็นอย่างไรบ้างนะ
ผมจะยังดำดกอยู่ไหมนะ
เพราะเป็นอีกหัวข้อที่เพื่อน ๆ ทักเสมอ
ปล. กลุ่มไลน์ทำให้พวกเรา
กลับมาพูดคุยใกล้ชิดกันอีกครั้ง
และเพื่อนเป๋อเค้าช่วยรวมซองให้เพื่อน ๆ
ที่อยู่ห่างไกลหรือติดภารกิจ
จึงฝากปัจจัยร่วมทำบุญ
ภาพนี้ฝีมือลูกแม่เอ๋

https://web.facebook.com/skfc.samutsakhon/photos/946625502093776

ปัจจัยส่วนบุคคล กับ ความภักดีของกลุ่มแฟนคลับสโมสรฟุตบอล

น้องแม็กกี้ หรือ Naret Bualuay เป็นเพื่อนเฟส ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเนชั่น และเคยเป็นเพื่อนร่วมงาน ที่สนิทกับคนที่บ้าน แชร์ผลการศึกษาวิจัย เรื่อง “การศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลที่ส่งผลต่อความภักดีของกลุ่มแฟนคลับต่อสโมสรฟุตบอลจังหวัดสมุทรสาคร” ในวารสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2565 น.45-54
โดยเขียนอ้างอิงแบบ APA และแชร์ไว้ที่ https://www.thaiall.com/research/apa.htm

นเรศ บัวลวย และ ศุภกาญจน์ จำเริญรักษ์. (2564). การศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลที่ส่งผลต่อความภักดีของกลุ่มแฟนคลับต่อสโมสรฟุตบอลจังหวัดสมุทรสาคร. วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, 11(1), 45-54.

การอ้างอิงแบบ APA

พบว่า น้องเค้าศึกษา ปัจจัยส่วนบุคคล ใน 6 ด้าน คือ ด้านเพศ ด้านอายุ ด้านการศึกษา ด้านอาชีพ ด้านรายได้เฉลี่ย/เดือน ด้านภูมิลำเนา ส่วนตัวแปรตาม คือ ความภักดีของกลุ่มแฟนคลับต่อสโมสรฟุตบอลจังหวัดสมุทรสาคร ที่ประกอบด้วย ปัจจัยต่อความภักดี และระดับความภักดี ข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มแฟนคลับติดตามสโมสรฟุตบอล สูงสุดถึง ร้อยละ 54 คือ นักฟุตบอลของสโมสร รองลงมา คือ ผลงานของทีม ร้อยละ 21 อีกข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ กลุ่มตัวอย่าง เชียร์ทีมสโมสรฟุตบอลจังหวัดสมุทรสาครเพียงทีมเดียว มีมากถึงร้อยละ 74.5

ปัจจัยส่วนบุคคล กับ ความภักดีของกลุ่มแฟนคลับสโมสรฟุตบอล
ปัจจัยส่วนบุคคล กับ ความภักดีของกลุ่มแฟนคลับสโมสรฟุตบอล

เมื่อมองการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของปัจจัยส่วนบุคคลที่ส่งผลต่อการติดตามภักดีของกลุ่มแฟนคลับด้วยการทดสอบค่าสถิติไคสแควร์ (Chi-square) พบว่า ทั้งอาชีพ และภูมิลำเนา ที่แตกต่างกันส่งผลต่อความภักดีสโมสรฟุตบอลแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ในส่วนของข้อเสนอแนะ คือ น่านำข้อมูลไปใช้เป็นแนวทางในการสร้างภาพลักษณ์ให้เกิดความภักดีต่อองค์กรให้มั่นคงในระยะยาว การเก็บข้อมูลน้องเค้าใช้คอแครน (Cochran) ได้ 384 คน และเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสะดวก ในระหว่างทำการแข่งขันฟุตบอลของสโมสรฟุตบอลจังหวัดสมุทรสาครกับสโมสรอื่น รายละเอียดน่าสนใจอีกมากมาย ค้นจาก thaijo ก็จะพบบทความนี้อย่างแน่นอนครับ ถ้าไม่พบ บอกผมได้ เพราะ download เก็บไว้แล้ว

บทความวิจัย https://so04.tci-thaijo.org/index.php/JLPRU/article/view/252440/175808

ภาพประกอบจากเน็ต
https://web.facebook.com/NTUnationuniversity/photos/

ฝากข้อคิดสำหรับบัณฑิตใหม่ 3 เรื่อง พิธีประสาทปริญญาบัตร ปีการศึกษา 2564

ภาพจากสถานที่จริง
พิธีประสาทปริญญาบัตร ปีการศึกษา 2564
วันที่ 25 – 26 มกราคม 2565
ณ ริมอ่างตระพังดาว มหาวิทยาลัยเนชั่น ลำปาง

ขอแสดงความยินดีกับบัณฑิตใหม่

ขอแสดงความยินดีกับบัณฑิตใหม่

อ.ธวัชชัย แสนชมภู (อ.ใหญ่)
ตัวแทนส่วนงานสวัสดิการพัฒนานิสิต มหาวิทยาลัยเนชั่น
ขอแสดงความยินดีกับผู้สำเร็จการศึกษา
ของ มหาวิทยาลัยเนชั่น ทุกท่าน ทั้งในระดับ ป.ตรี และ ป.โท

“ตลอดระยะเวลาที่ท่านได้ศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยของเรา
พวกเราคณาจารย์และบุคลากร ก็ได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ
ในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์
เพื่อให้ทุกคนมีความพร้อมที่จะไปปฏิบัติงานในหน้าที่ต่อไป
แต่อย่างไรก็ตามการสำเร็จการศึกษานั้น
แค่เป็นการเริ่มต้นชีวิตของการทำงานและการเรียนรู้
ซึ่งผมอยากจะฝากสิ่งที่ผมคิดว่ามีความสำคัญในการทำงานไว้ 3 เรื่อง

เรื่องแรก คือ เรื่องของเวลา
หมายถึง การเป็นคนตรงต่อเวลาและรักษาเวลาในการทำงานให้เสร็จสิ้นตามที่ได้รับมอบหมาย

เรื่องที่ 2 คือ การไม่หยุดที่จะเรียนรู้
เพราะในโลกปัจจุบันที่องค์ความรู้และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
การหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาก็จะทำให้ท่านทำงานในอนาคตได้อย่างไม่มีปัญหา

เรื่องที่ 3 จงยึดมั่นในความกตัญญูกตเวที
ทั้งต่อบิดา มารดา และผู้มีพระคุณที่เกี่ยวข้อง

หวังว่าผู้สำเร็จการศึกษาทุกคนจะเป็นคนเก่งและดี
ทำงานอย่างเต็มความสามารถเพื่อประโยชน์แก่สังคมต่อไป
หากทุกท่านได้มีความมุ่งมั่น และพยายามดังนี้แล้ว
ขอให้ผลของการกระทำเรานั้นส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง
ทั้งในกิจการงานและครอบครัว
ท้ายนี้ขอให้ ทุกคนใส่ใจดูแลสุขภาพ
และมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์
เจริญในทรัพย์ เจริญด้วยสติปัญญา”

ผ่านพบที่ผูกพัน
cr. Tawatchai Sanchomphoo

จากนักเรียน สู่บัณฑิต

จากนักเรียน สู่บัณฑิต

เปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาลนครลำปาง

ระยะนี้ (ม.ค. – ก.พ.2564) พบเห็นเพื่อน ๆ ชาวโซเชียล โพสต์เรื่องราวแสดงตนได้อย่างเด่นชัด ทั้งภาพ profile และชื่อสกุล รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ เชิงบวก และสร้างสรรค์ สืบเนื่องมาจากจะมีการเลือกตั้งนายก และสท. ในวันที่ 28 มีนาคม 2564 เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมที่มักแนะนำนิสิตอยู่เสมอ ว่าให้ดูพี่ ๆ เค้าเป็นตัวอย่างว่า ภาพประจำตัว ชื่อสกุล และเรื่องราวที่สะท้อนความเป็นสมาชิก หรือตัวแทนของประชาชนได้อย่างชัดเจน ซึ่งตัวอย่างผลงานของกลุ่มต่าง ๆ ผมมักจะแชร์ไปที่ แฟนเพจ “เทียวลำปางหนา” เพื่อค้นค้นได้ง่ายในภายหลัง และแบ่งปันเรื่องราวในลำปาง

เปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาลนครลำปาง

เปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาลนครลำปาง

ผลการสมัครรับเลือกตั้ง นายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาลนครลำปาง ในเช้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า มีผู้ประสงค์สมัครเข้ารับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาลนครลำปาง มาแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่แล้วทั้งหมด 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีสมาชิกถึง 24 คน แบ่งเป็นเขตละ 6 คน และได้มีการจับฉลากเพื่อรับหมายเลขผู้สมัครทั้งหมด 4 เขต สำหรับผลการจับสลากเบอร์มีดังนี้
เบอร์ 1 นายณรงค์ พินธิสืบ กลุ่มความสุขนครลำปาง
เบอร์ 2 นายนิมิตร จิวะสันติการ กลุ่มนครลำปาง
เบอร์ 3 นายอภิชัย สัชฌะไชย กลุ่มลำปางพัฒนา
เบอร์ 4 ดร.กิตติภูมิ นามวงค์ กลุ่มภูมิลำปาง
เบอร์ 5 นายปุณณสิน มณีนันท์ กลุ่มลำปางก้าวหน้า

แต่ละกลุ่มมีกลุ่มเฟสบุ๊คสำหรับการสื่อสารผ่านสื่อสังคม ดังนี้
กลุ่ม 1 “กลุ่มความสุขนครลำปาง – Happiness of Lampang City”
กลุ่ม 2 “กลุ่มนครลำปาง”
กลุ่ม 3 “กลุ่มลำปางพัฒนา LampangDevelopment”
กลุ่ม 4 “กลุ่มภูมิลำปาง”
กลุ่ม 5 “กลุ่มลำปางก้าวหน้า Lampang Forward”

 เปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาลนครลำปาง

เตรียมเปิดศึก ชิงนายกเทศมนตรีนครลำปาง

https://web.facebook.com/lannapost/posts/1772909482871489

ที่ลำปาง
ที่ที่ผมใช้ชีวิตกินนอนอยู่
มีผู้สมัครนายกเทศบาลฯ 5 ท่าน
ผมรู้จักเกือบทุกท่าน
ทุกกลุ่มก็มีเพื่อนที่รู้จัก เพื่อนสนิท ครู อาจารย์ ลูกศิษย์ รุ่นน้อง
กระจายทุกกลุ่มเช่นกัน
ผมคิดว่าเยอะที่สุดแล้ว แต่ก็คิดผิด
เมื่อไปส่องเชียงใหม่ พบผู้สมัครนายกฯ 6 คน
แต่มองพื้นที่แคบลงหน่อย
ที่เกาะคา กับ เวียงตาล (นิวัฒน์)
ไม่มีใครสมัครแข่งกับนายกปุ้ยเลย
คงเพราะผลงานนายกปุ้ยเด่น
จนไม่น่าจะมีเบอร์ 2 ตามได้
พี่ ๆ น้อง ๆ สท. ในเขตเกาะคา
ก็ดูชุมชน อย่างดีเยี่ยม
ไปส่องเฟสนายกได้
พบผลงานตาม timeline เยอะเลย
ปล. เป็นภาพที่ผมฉาย
ไปที่ lampang.net

บทบาทด้านสาธารณสงเคราะห์ ของ วัดมิ่งเมืองมูล จังหวัดลำปาง

บทบาทด้านสาธารณสงเคราะห์

บทบาทด้านสาธารณสงเคราะห์

สังคมไทยเป็นสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนมาแต่โบราณกาล วัดกลายเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของชุมชน มีบทบาทได้เป็นสาธารณสงเคราะห์ที่ให้ทั้งสถานที่ อุปกรณ์ และบุคลากร นอกจากนี้ที่วัดได้จัดกิจกรรมส่งเคราะห์ตามเทศกาลต่อชุมชนในหลายรูปแบบ เช่น ในช่วงฤดูหนาวก็จะมีกิจกรรมที่ทางวัดออกพบชุมชน ด้วยการจัดหาเครื่องนุ่งห่ม เครื่องกันหนาวไปมอบให้ผู้สูงอายุในชุมชนถือเป็นน้ำใจที่วัดมีให้กับคนในชุมชน ตอบแทนที่ชุมชนมีอุปการะคุณต่อทางวัดมาโดยตลอด

ในช่วงเช้าหลังทำวัตรสวดมนต์ ทำความสะอาดบริเวณวัดให้ดูดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระเณรก็จะแยกย้ายออกรับบิณฑบาตในชุมชน มีผู้สูงอายุรอใส่บาตร พระเณรรู้สึกกตัญญูกตเวทีก็จะนำขนม ดอกไม้ธูปเทียนไปรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในชุมชนช่วงวันผู้สูงอายุวันครอบครัวช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือมีผู้สูงอายุในชุมชนเจ็บไข้ได้ป่วย หรือป่วยติดเตียงก็เป็นโครงการพระเยี่ยมไข้ พระก็จำนำขนมนมเนยที่ได้รับบิณฑบาตไปมอบ มีด้ายผูกข้อแขนเป็นสิริมงคล และให้ศีลให้พร ผู้สูงอายุที่ได้รับก็จะมีกำลังใจฮึกเหิมต่อสู้กับการเจ็บป่วยได้ ถือเป็นยาวิเศษที่ช่วยรักษาใจได้เป็นอย่างดี เสริมยารักษากายที่รับจากโรงพยาบาล ดังคำว่า หมอเป็นหมอรักษากาย พระเป็นหมอรักษาใจ

หากมีญาติโยมถึงแก่กรรม และจัดพิธีทำบุญให้กับผู้ล่วงลับก็จะนิมนต์พระไปสวดทุกคืน ในคืนสุดท้ายของการสวดอภิธรรม วัดมิ่งเมืองมูลจะขอเป็นเจ้าภาพหากนิมนต์พระจากที่อื่น ถ้านิมนต์พระที่วัดไป ปัจจัยที่ถวายให้พระก็จะมอบร่วมทำบุญกับเจ้าภาพทั้งหมด ถือเป็นโอกาสที่ได้ตอบแทนบุญคุณที่ชุมชนมีต่อพระเณร และทางวัดด้วยดีเสมอมา

โดยเจ้าอาวาส : พระมหาภาณุวัฒน์ ปฏิภาณเมธี

http://www.wat3m.com

ชีวประวัติหลวงพ่อ พระธัมมานันทมหาเถระ ธัมมาจริยะ อัครมหาบัณฑิต

 

 

schedule 49175722_10156903002443895_1646549045193211904_n 49132400_10156903002283895_7556580312579309568_n 49098694_10156903002163895_3827212183138205696_n 49122157_10156903001963895_3238583530787176448_o 49690710_10156903001833895_7629203210212737024_n

49239958_10156903002603895_1005401657300746240_n

ชีวประวัติหลวงพ่อ พระธัมมานันทมหาเถระ ธัมมาจริยะ อัครมหาบัณฑิต

ณ หมู่บ้านต่าสี่ อำเภอเหย่สะโจ่ จังหวัดปขุกกู่ ประเทศสหภาพพม่า คุณแม่หง่วยหยี่ ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนที่ ๓ ด้วยโสรดิถี มกรนักขัตตฤกษ์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย ปีระกา ตรงกับวันเสาร์ที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๓ (จุลศักราช ๑๒๘๒ คริสตศักราช ๑๙๒๑) คุณแม่หง่วยหยี่กับคุณพ่อโภเตด ได้ตั้งมงคลนามให้บุตรชายผู้เป็นดุจดวงตาดวงใจว่า “เด็กชายตันหม่อง” และได้ให้กำเนิดบุตรชายทั้งสิ้นรวม ๔ คน

ตระกูลนี้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า เมื่อเห็นว่าหมู่บ้านต่าสี่ยังไม่มีวัดเลย จึงได้ร่วมกันสร้างวัดต่าสี่ให้เป็นวัดประจำหมู่บ้าน และได้สร้างเจดีย์ทองประดิษฐานไว้ในวัดนั้นด้วย ซึ่งเป็นบรรยากาศที่น้อมอัธยาศรัยของลูกหลานทุกคนให้ได้เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัตร์ เมื่อเด็กชายตันหม่องอายุได้ ๗ ขวบ มารดาบิดาได้นำท่านไปฝากไว้ให้เป็นลูกศิษย์วัด กับท่านอาจารย์อูญาณะ เจ้าอาวาสวัดโตงทัตในหมู่บ้านต่าสี่ ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๐

นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นในเส้นทางพระพุทธศาสนาของเด็กชายตันหม่อง เธอจึงได้เรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นอนุบาลและชั้นประถม แม้จะเป็นเด็กวัดตัวน้อยๆ ท่านก็มีความทรงจำที่เป็นเลิศกว่าผู้อื่น สามารถทรงจำบทสวดมนต์ต่างๆได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทรงจำพระปริตร์ ได้ทั้ง ๑๑ สูตร ทรงจำคัมภีร์นมักการะ คัมภีร์โลกนีติ ชยมังคลคาถา ชินบัญชร นาสนกรรม ทัณฑกรรม เสขิยวัตร และขันธกะ ๑๔ วรรค ทั้งภาคบาลีและคำแปล แม้กระทั่งโหราศาสตร์ที่นับตัวเลขด้วยคำภาษาบาลีที่เรียนยาก ท่านก็ได้เรียนจนเข้าใจและจำได้ไม่หลงลืม

เมื่อถึงปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ ท่านมีอายุ ๑๔ ปี ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร มีฉายาภาษาบาลีว่า “สามเณรธัมมานันทะ” โดยมีท่านอาจารย์อูจารินทะ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว พระอุปัชฌาย์ให้ท่านท่องจำกัจจายนสูตรและคำแปล ตามคัมภีรย์กัจจายนสุตตัตถะ ทั้งได้สอนคัมภีร์กัจจายนสังเขปให้ท่านด้วย

ต่อมา ได้ย้ายไปอยู่วัดปัตตปิณฑิการาม ในตัวอำเภอเหย่สะโจ่ โดยมีอาจารย์อูอุตตระเป็นเจ้าอาวาสและอาจารย์สอน ได้เรียนคัมภีร์เพิ่มเติมอีกหลายคัมภีร์ คือ คัมภีร์พาลาวตาระ กัจจายนะ สัททนีติสุตตมาลา อภิธัมมัตถสังคหะ เทฺวมาติกา ขุททสิกขา กังขาวิตรณี และพระวินัยปิฏก

เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ โดยมีท่านอาจารย์อูสุชาตะ ผู้เป็นศิษย์ท่านอาจารย์อูอุตตระ เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ พัทธสีมาวัดหญ่องเป่งต่า จังหวัดมอละไมฺยจุน มีนายพละกับนางเส่งมยะ ผู้อยู่บ้านเลขที่ ๒๐ ถนนสายที่สี่ ในจังหวัดมอละไมฺยจุน เป็นโยมอุปัฎฐากถวายเครื่องอัฎฐบริขาร นับว่าท่านได้ทำเพศแห่งสมณะให้มีความมั่นคงถาวรในพระพุทธศาสนา อันเข้าใกล้มรรคผลและนิพพานแล้ว

หลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ท่านอาจารย์อูอุตตระ ได้ส่งท่านไปศึกษาพระปริยัตติธรรมต่อ ในสำนักของท่านอาจารย์อูโกสัลลาภิวังสะ วัดมหาวิสุทธาราม จังหวัดมันดเล จึงได้ศึกษาคัมภีร์ไวยากรณ์ภาษาบาลี คือคัมภีร์ปทรูปสิทธิและคัมภีร์ปทวิจยะ

ในช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ จังหวัดมันดเลเป็นเป้าหมายในการโจมตีทางยุทธศาสตร์ เพราะเป็นเมืองหลวงอันดับสอง รองจากกรุงย่างกุ้ง จึงถูกโจมตีอย่างหนัก เป็นเหตุให้ท่านอาจารย์อูธัมมานันทะ ย้ายจากจังหวัดมันดเลไปอยู่จังหวัดมะไลย ได้ศึกษาคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ฉันโทปกรณ์ สุโพธาลังการะ เภทจินตา และกัจจายนสาระ ในสำนักของท่านอาจารย์อูจันทโชติ เจ้าอาวาสวัดสิริโสมาราม หมู่บ้านกันจี จังหวัดมะไลย และยังได้ศึกษาคัมภีร์กัจจายนสุตตตัตถะ พร้อมทั้งวิธีการสร้างรูปคำศัพท์ ตามนัยของคัมภีร์กัจจายนะ นามปทมาลา และอาขยาตปทมาลา ได้ศึกษาคัมภีร์พระอภิธรรม คือ คัมภีร์ปรมัตถสรูปเภทนี มาติกา และธาตุกถา รวมทั้งคัมภีร์ปาราชิกกัณฑอรรถกถา (สมันตปาสาทิกา) ท่านพำนักอยู่ที่วัดสิริโสมารามรวม ๕ ปี จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง

ประกอบกับสมัยนั้น แถบจังหวัดปขุกกู่ และอำเภอเหย่สะโจ่ ไม่นิยมสอบสนามหลวง เพียงแต่ศึกษาเล่าเรียนให้แตกฉานเท่านั้น ท่านจึงไม่สนใจเข้าสอบ ตั้งแต่เป็นสามเณรเรื่อยมาจนได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง จึงได้เริ่มสอบสนามหลวง และสอบไล่ได้ชั้น “ปะถะมะแหง่” แล้วย้ายจากวัดสิริโสมาราม ไปอยู่วัดมหาวิสุทธาราม จังหวัดมันดเล อันเป็นที่พำนักอยู่เดิม ในที่นั้น ท่านได้เรียนคัมภีร์ต่างๆ จากอาจารย์อูโกสัลลาภิวังสะ อูชาเนยยพุทธิ อูสุวัณณโชติภิวังสะ และอูอานันทปัณฑิตาภิวังสะ จนสอบได้ชั้น “ปะถะมะลัด”

หลังจากนั้น ท่านได้ย้ายไปอยู่วัดเหว่หยั่นโผ่งต่า ได้เดินทางไปศึกษาคัมภีร์ปัฎฐานที่วัดปัฎฐานาราม ภูเขาสะกาย จังหวัดสะกาย เป็นพิเศษด้วย โดยมีท่านอาจารย์อูอินทกะ (อัครมหาบัณฑิต) เป็นผู้สอน จึงทำให้สอบไล่ชั้น “ปะถะมะจี” ได้เป็นอันดับ ๓ ของประเทศ

ในปีถัดมา ท่านได้ศึกษาคัมภีร์ต่างๆในชั้นธัมมาจริยะ จากท่านอาจารย์อูกัลยาณะ ผู้มีชื่อเสียงในการสอนคัมภีร์ชั้นธัมมาจริยะมากที่สุดในเมืองมันดเลในเวลานั้น จึงสอบไล่ชั้น “ธัมมาจริยะ” ได้ทั้ง ๓ คัมภีร์ คือ ปาราชิกบาลีและอรรถกถา สีลักขันธวรรคบาลีและอรรถกา ธัมมสังคณีบาลีและอัฎฐสาลินีอรรถกถา จึงได้รับตราตั้งว่า “สาสนธชธัมมาจริยะ” และยังสอบได้คัมภีร์พิเศษในชั้นธัมมาจริยะอีก คือ คัมภีร์มหาวัคคาทิอรรถกถา สังยุตตนิกายอรรถกถา และวิภังคาทิอรรถกถา จึงได้รับตราตั้งชั้นพิเศษว่า “สาสนธชสิริปวรธัมมาจริยะ” ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่ใครๆจะทำตามท่านได้ เมื่อย้อนดูประวัติการสอบตั้งแต่ชั้นแรกถึงชั้นธัมมาจริยะ ของท่านอูธัมมานันทะแล้ว จึงได้รู้ว่าท่านสอบได้ทุกชั้นมาโดยตลอด ไม่เคยสอบตกเลย จึงได้รับความยกย่องจากอาจารย์และเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมในวัด ๓ แห่ง คือ วัดสิริโสมาราม จังหวัดมะไลย วัดปัตตปิณฑิการาม อำเภอเหย่สะโจ่ และวัดเหว่หยั่นโผ่งต่า จังหวัดมันดเล มาตั้งแต่ก่อนจะเรียนจบชั้น “ปะถะมะจี” เสียอีก

เมื่อท่านเจริญอายุได้ ๓๗ ปี ช่วงเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ กรมการศาสนาของประเทศสหภาพพม่าได้นิมนต์ท่านให้เป็นพระธรรมฑูต เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในต่างประเทศ ท่านจึงย้ายไปอยู่ในสังฆมณฑลกะบ่าเอ กรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นทั้งกรมการศาสนา และมหาวิทยาลัยสงฆ์เพื่อการเผยแผ่ (ธัมมฑูตวิชชาลยะ) ได้ศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังประเทศญี่ปุ่น ในปีเดียวกันนั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตปญฺโญ ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ ประเทศไทย ได้ส่งหนังสือไปถึงกรมการศาสนาแห่งประเทศสหภาพพม่า ขอพระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในพระปริยัตติธรรม มาเป็นอาจารย์สอนที่วัดโพธาราม กรมการศาสนาแห่งประเทศสหภาพพม่าพิจารณาดูความเหมาะสมแล้ว เห็นว่าควรจะส่งท่านอูธัมมานันทะมาเป็นอาจารย์สอนพระปริยัติที่ประเทศไทย จึงได้กราบเรียนโดยรับรองกับท่านว่า เมื่อท่านสอนพระปริยัติธรรมในประเทศไทยได้หนึ่งพรรษาแล้ว จะส่งต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น ท่านจึงได้เดินทางมายังวัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ ตามที่กรมการศาสนานิมนต์ ในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๒

เมื่อมาอยู่ที่วัดโพธาราม ท่านอาจารย์อูธัมมานันทะได้ทำการสอนพระปริยัติติธรรมแก่พระภิกษุและสามเณรจำนวน ๒๐๐ รูป เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็ยังไม่ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นตามความมุ่งหมายเดิม เพราะท่านเจ้าคุณพระธรรมคุณาภรณ์ นิมนต์ให้อยู่สอนพระปริยัติธรรมต่อ ท่านจึงได้พำนักอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ เป็นเวลาถึง ๖ ปี

ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ ระหว่างที่ท่านพำนักอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์นั้น กรมการศาสนาประเทศสหภาพพม่าได้นิมนต์ท่านให้เดินทางกลับ เพื่อร่วมจัดทำคัมภีร์พจนานุกรมพระไตรปิฏก ฉบับบาลี-พม่า เล่มที่ ๑ และตรวจชำระคัมภีร์ต่างๆ มีสุโพธาลังการฎีกาเป็นต้น ในสมัยปัจฉิมฏีกาสังคายนา ที่มหาปาสาณคูหา กะบ่าเอ กรุงย่างกุ้ง ท่านจึงได้เดินทางกลับประเทศของท่านเป็นการชั่วคราว เพื่อร่วมจัดทำคัมภีร์ดังกล่าว เป็นเวลา ๑ ปี หลังจากการทำสังคายนาพระบาลี อรรถกถา และฎีกา รวมทั้งคัมภีร์ต่างๆ ได้สิ้นสุดลง ท่านก็ได้เดินทางกลับมาพำนักอยู่ที่วัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ตามเดิม

ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ ท่านอาจารย์อูเนมินทะ (อัครมหาบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ รูปที่ ๓ ชราภาพมากแล้ว จึงได้ทำหนังสือไปถึงกรมการศาสนาประเทศสหภาพพม่า บอกความประสงค์ว่า จะนิมนต์ท่านอาจารย์อูธัมมานันทะให้มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำอยู่ที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง ทางกรมการศาสนาประเทศสหภาพพม่า ก็ได้ทำหนังสือแจ้งให้ท่านทราบ ท่านจึงได้ย้ายจากจังหวัดนครสวรรค์มาอยู่ที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง เมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘ ท่านย้ายมาอยู่ที่วัดท่ามะโอเพียง ๕ เดือนเท่านั้น ท่านอาจารย์อูเนมินทะ เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ ก็มรณภาพลงด้วยโรคชรา ท่านอาจารย์อูธัมมานันทะจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอสืบมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะท่านเป็นผู้เรียนเก่ง สอนก็เก่ง มีความรักในการเรียนการสอนมากเป็นพิเศษ จึงไม่อยู่นิ่งเฉย ท่านเริ่มจัดการเรียนการสอนด้านพระปริยัติธรรม อันเป็นหลักสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยการตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น ในวันพฤหัสบดี แรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐ จนเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่มีชื่อเสียงขึ้นตามลำดับ กิตติศัพท์ของท่านและสำนักเรียนดังกระฉ่อนไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีพระภิกษุและสามเณรผู้ใฝ่ใจศึกษา เดินทางมาจากทั่วทุกมุมของประเทศ เพื่อสมัครเป็นศิษย์ผู้สืบสานการเรียนการสอนที่เข้าถึงแก่นแท้ของพระปริยัติศาสนา จะได้มีปรีชาสามารถจรรโลงรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวร สมกับเป็นพระศาสนาที่ประเสริฐสูงสุดในโลก เหล่าศิษยานุศิษย์ผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปศาสตร์แขนงเอก จากท่านอาจารย์อูธัมมานันทะ ล้วนเป็นผู้ทรงความรู้ความสามารถที่จะสืบทอดเจตนารมย์ของบูรพาจารย์ จึงได้พากันเอาใจใส่ในการเรียนการสอนอย่างจริงจัง จนสามารถผลิตนักศึกษาให้สอบไล่ได้ทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลีเป็นจำนวนมาก ทุกปีเสมอมา ทั้งมีความสามารถในการสอนและทรงจำคัมภีร์ต่างๆ ในระดับชั้นพระไตรปิฎกอันเป็นชั้นเรียนสูงสุดอีกด้วย

ท่านอาจารย์อูธัมมานันทะได้พร่ำสอนลูกศิษย์ของท่านอยู่เสมอว่า “การศึกษาพระไตรปิฎกให้แจ่มแจ้งนั้น จำเป็นต้องอาศัยคัมภีร์พื้นฐาน ๔ คัมภีร์ คือ (๑) คัมภีร์บาลีไวยากรณ์ทั้ง ๓ สาย ได้แก่ คัมภีร์สายกัจจายนะ สายโมคคัลลานะ และสายสัททนีติ (๒) คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา (๓) คัมภีร์วุตโตทยฉันโทปกรณ์ และ (๔) คัมภีร์สุโพธาลังการะ ท่านจึงสอนลูกศิษย์ให้ได้ศึกษาคัมภีร์พื้นฐานของพระไตรปิฎกทั้ง ๔ คัมภีร์นั้นให้ช่ำชองก่อน โดยการให้ทรงจำหลักสูตร ทั้งสอนและอธิบายให้เข้าใจในหลักสูตรอย่างแจ่มแจ้ง แล้วหมั่นสาธยายทบทวนไม่ให้ลืมเลือน และจัดพิมพ์คัมภีร์เหล่านั้นไว้เป็นหลักสูตรจนแพร่หลาย เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักปราชญ์สายบาลี ได้รับการยกย่องเรียกขานว่า “บาลีใหญ่”
มีคัมภีร์ที่ได้รับการจัดพิมพ์แล้วรวม ๒๐ คัมภีร์ คือ
๑. กัจจายนะ
๒. ปทรูปสิทธิ
๓. โมคคัลลานพฺยากรณะ
๔. สัททนีติ สุตตมาลา
๕. นฺยาสะ
๖. อภิธานัปปทีปิกา
๗. สุโพธาลังการะ
๘. วุตโตทยฉันโทปกรณ์
๙. สุโพธาลังการะปุราณฎีกา
๑๐. สุโพธาลังการะอภินวฎีกา
๑๑. ขุททสิกขาและมูลสิกขา
๑๒. ธาตฺวัตถสังคหะ
๑๓. สัททัตถเภทจินตา
๑๔. กัจจายนสาระ
๑๕. ณฺวาทิโมคคัลลานะ
๑๖. พาลาวตาระ
๑๗. สังขฺยาปกาสกะ
๑๘. สังขฺยาปกาสกฎีกา
๑๙. ปโยคสิทธิ
๒๐. วุตโตทยฉันโทปกรณ์แปล

ส่วนคัมภีร์ที่ท่านอาจารย์ได้รจนาขึ้นมี ๔ คัมภีร์ คือ
๑. อุปจารนยะและเนตติหารัตถทีปนี
๒. อุปสัมปทกัมมวาจาวินิจฉัย
๓. สังขิตตปาติโมกขุทเทสวินิจฉัย
๔. คัมภีร์นานาวินิจฉัย

๗๔ ปี ของท่าน ที่ได้อยู่ในร่มผ้ากาสาวพัตร์ ช่างเป็นชีวิตที่แสนประเสริฐสูงสุด บัดนี้ ท่านดำรงอยู่ในฐานะผู้มีวัยอันเจริญครบ ๘๘ ปี ผู้มีอัธยาศรัยอันถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาให้งดงามด้วยวิชชาคือพระปริยัติศาสนาที่ได้ศึกษามาอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ งดงามด้วยจรณะคือปฏิปทาอันเป็นข้อวัตรปฏิบัติอันคล้อยตามหลักพระสัทธรรมที่ได้ศึกษามาเป็นอย่างดี งดงามด้วยโอวาทานุสาสนีที่ได้ตักเตือนพร่ำสอนมวลหมู่ศิษย์ทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน ความงดงาม ความน่าเลื่อมใส ข้อวัตรปฏิบัติที่บริบูรณ์ของท่าน ศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ต่างชื่นชมโสมนัส เคารพยำเกรง ถือปฏิบัติเอาเป็นแบบอย่าง พากันเรียกขานด้วยความเคารพและอบอุ่นยิ่ง ว่า “หลวงพ่อ ภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ”

ด้วยผลงานด้านการสอนและการเรียบเรียงรจนาคัมภีร์อีกมายมายหลายคัมภีร์ รัฐบาลประเทศสภาพพม่า ได้รับทราบเกียรติคุณความดีในด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศของท่าน จึงได้น้อมถวายตำแหน่ง “อัครมหาบัณฑิต” แด่หลวงพ่อ ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ จึงเป็นที่รู้จักกันในมงคลนามว่า “หลวงพ่อ ภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต” แม้มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อันเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ของประเทศไทย ก็ได้ทราบเกียรติคุณของหลวงพ่อ จึงได้น้อมถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ท่าน

แม้เวลานี้ หลวงพ่อของพวกเรา จะชราภาพมากแล้วก็ตาม ท่านก็ไม่ได้คำนึงถึงความชราภาพของตนเองเลย ยังมีดวงหทัยอันเต็มเปี่ยมด้วยเมตตา มีความอุตสาหะพร่ำสอนศิษยานุศิษย์ให้พยายามศึกษาเล่าเรียนอย่างสม่ำเสมอ มวลศิษยานุศิษย์เล่า ก็พากันถือปฏิบัติตามอย่างเคร่องครัด เพราะมาเล็งเห็นโทษที่ไม่ปฏิบัติตาม และเล็งเห็นประโยชน์อันประเสริฐที่ได้ปฏิบัติตาม จึงได้ช่วยกันขวนขวาย จัดการเรียนการสอนตามแนวที่หลวงพ่อได้สอนตนมา ให้สืบทอดถึงรุ่นลูกหลานต่อไปในอนาคต พากันหวังอยู่ว่า หลวงพ่อจะเบาใจและวางใจได้ว่า พระพุทธศาสนาที่แผ่ซ่านอยู่ในสายเลือดของท่านนั้น ได้รับการสืบทอดแล้วอย่างลงตัว สมกับเจตนารมย์ที่ได้ตั้งอธิษฐานไว้ว่า

“จิรํ ติฏฺฐตุ สทฺธมฺโม ธมฺเม โหนฺตุ สคารวา”

ขอให้พระสัทธรรมจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

ขอให้ชนทั้งหลายจงมีความเคารพยำเกรงในพระธรรม

เมื่อวันที่ ๑๘-๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา หลวงพ่อได้มีโอกาสเดินทางกลับไปเยือนบ้านเกิดเพื่อสงเคราะห์หมู่ญาติ เพื่อเยี่ยมสำนักเรียนที่เคยเรียนเคยสอน และเยี่ยมสำนักที่เคยอยู่อาศัย เพื่อย้อนรอยสู่อดีตอันอบอุ่น สู่ความทรงจำอันยากจะลืมเลือน ที่อยากบอกเล่าให้ลูกศิษย์ทุกคนได้รับฟัง

เมื่อเป็นโอกาสดีอย่างนี้ พวกเราเหล่าศิษย์จึงขอติดตามหลวงพ่อไปด้วย เพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆ มาเล่าสู่กันฟัง อย่างภาคภูมิใจและชื่นชมโสมนัส

ภาพและเสียงที่จะได้รับชมรับฟังต่อไปนี้ คือบันทึกการเดินทางเยือนบ้านเกิดของหลวงพ่อผู้ยิ่งกว่าพ่อของพวกเราทุกคน

“หลวงพ่อ พระภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ ธัมมาจริยะ อัครมหาบัณฑิต”

จากหนังสือ งานละสังขาร 100 วันหลวงพ่อใหญ่

https://web.facebook.com/notes/ta-tuk-tatuk/

 

repost จาก note ของ FB: ta-tuk-tatuk

ก้าวคนละก้าว

ตูน บอดี้สแลม ผู้เสียสละ ก้าวคนละก้าว

เสียสละ (Sacrifice) หมายถึง ยินยอมให้แม้บางอย่างจะสูญไป
เป็นหนึ่งในคุณลักษณะของจริยธรรม

กิจกรรมของพี่ตูน จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยหันมาเสียสละ
และทำกิจกรรมเพื่อสังคมกันมากขึ้น 
เห็นได้ชัดจากกระแสตอบรับกิจกรรมเสียสละของพี่ตูน ในสื่อสังคม

http://www.royin.go.th

#savetoon

#savetoon

https://infographic.kapook.com/view184443.html

แล้วพบว่า ตูน บอดี้สแลม ได้กระทำกิจกรรมเสียสละเพื่อสังคม
ชื่อ “ก้าวคนละก้าว” มุ่งเน้นในเรื่องของการระดมทุน
เพื่อยกระดับการรักษาของโรงพยาบาลศูนย์
ที่ต้องการความช่วยเหลือในหลายจังหวัด
ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งหมด 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ

1.โรงพยาบาลยะลา
2.โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี
3.โรงพยาบาลราชบุรี
4.โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
5.โรงพยาบาลศูนย์สระบุรี
6.โรงพยาบาลขอนแก่น
7.โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี
8.โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่
9.โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
10.โรงพยาบาลน่าน (ไม่ใช่โรงพยาบาลศูนย์แต่อยู่ในพื้นที่พิเศษห่างไกลจากตัวเมือง)
11.โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

มีแฟนเพจประชาสัมพันธ์โครงการ
ที่ https://www.facebook.com/kaokonlakao/

ก้าวคนละก้าว

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=138717556827155&set=a.103109563721288.1073741827.100020667343888

ก้าวคนละก้าว

ก้าวคนละก้าว

ระหว่าง 1 พฤศจิกายน 2560 – 25 ธันวาคม 2560
โดยมีจุดเริ่มต้น จากสุดเขตแดนใต้ อำเภอ เบตง จังหวัดยะลา
ไปจนถึง เหนือสุดแดนสยาม อำเภอแม่สาย จังหวัด เชียงราย
รวมระยะทาง 2,191 กม.
โดยวิ่งผ่าน 20 จังหวัด ดังนี้

1. ยะลา
2. ปัตตานี
3. สงขลา
4. นครศรีธรรมราช
5. สุราษฎร์ธานี
6. ชุมพร
7. ประจวบคีรีขันธ์
8. เพชรบุรี
9. ราชบุรี
10. นครปฐม
11. กรุงเทพฯ
12. นนทบุรี
13. สุพรรณบุรี
14. ชัยนาท
15. นครสวรรค์
16. กำแพงเพชร
17. ตาก
18. ลำปาง
19. พะเยา
20. เชียงราย

ก้าวคนละก้าว

ก้าวคนละก้าว

 

แต่ละวันจะมีแผนการวิ่ง แบ่งเป็นเซต
ในวันอังคารที่ 19 ธ.ค.60 มีแผนวิ่ง 5 เซต
Start จากบ้านแม่เตี้ย อ.แม่ถอด จ.ลำปาง
จุดพักเซตที่ 1 ศูนย์การศึกษาวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ต.แม่กั๊วะ อ.สบปราบ จ.ลำปาง
จุดพักเซตที่ 2 ที่พักริมทาง ต.นาแส่ง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
จุดพักเซตที่ 3 ทางเข้าบ่อลูกรัง ต.นาแสง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
จุดพักเซตที่ 4 ปั้มน้ำมันเอสโซ่วังพร้าว ต.วังพร้าว อ.เกาะคา จ.ลำปาง
จุดพักเซตที่ 5 สวนอาหารบ้านพลอย ต.ชมพู อ.เมือง จ.ลำปาง
รวม 5 เซต มีระยะทาง 62.3 กม.
ข้อมูลจาก http://www.lampang13.com/archives/7060

ภาพการต้อนรับพี่ตูนที่เกาะคา
ที่เพื่อนชาวลำปาง แชร์ต่อมาทาง Line มีหลายภาพ
ก็สามารถบอกได้เลยว่าชาวลำปางรักพี่ตูน

toon1 toon2

รวมคลิ๊ป รวมภาพผู้เข้าประกวดนางสาวลำปาง (Miss Lampang 2017) ประจำปี 2560

รวมคลิ๊ปประกวดนางสาวลำปาง
(Miss Lampang 2017) ประจำปี 2560

ในงานฤดูหนาว และของดีนครลำปาง
โดย อ.ภาคภูมิ เรืองสิร์กุล อาจารย์พิเศษคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น
ท่านได้แชร์ในกลุ่มเฟสของ Tourlampang
https://www.facebook.com/groups/tourlampang/

5 มกราคม พ.ศ.2560
รอบชุดกีฬา (รอบแรก แนะนำตัว) Miss Lampang 2017



5 มกราคม พ.ศ.2560
รอบสอง Miss Lampang 2017
แนะนำตัว 30 คนสุดท้าย ในคืนวันฝนพรำ ๆ



5 มกราคม พ.ศ.2560
รอบชุดราตรีไทย Miss Lampang 2017
รอบ 10 คนสุดท้าย คัดเหลือ 5 คนสุดท้าย พร้อมช่วงตอบคำถาม



27 ธันวาคม 2559
รอบคัดเลือก
จาก 40 สาวงาม เหลือ 30 สาวงาม



ผลประกวด จากคลิ๊ปของ channarong64

 

“นางสาวนครลำปาง” ได้แก่
นางสาวกชกร ต้องใจ หรือ น้อง “กช” สาวงามวัย 19 ปี
นิสิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวรจังหวัดพิษณุโลก
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดลำปางเป็นผู้ส่งเข้าประกวด
ได้รับรางวัลเกียรติยศ มงกุฎประจำตำแหน่ง สายสะพาย
และเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท

แล้ว “รองอันดับ 1” ได้แก่
นางสาวจิรานุช บุตรตา
เทศบาลเมืองเขลางค์เป็นผู้ส่งเข้าประกวด
ได้รับรางวัลเกียรติยศ มงกุฎประจำตำแหน่ง สายสะพาย
และเงินรางวัล จำนวน 30,000 บาท

แล้ว “รองอันดับ 2” ได้แก่
นางสาวกิตตินันท์ มีอักโข
ห้างหุ้นส่วนจำกัด สินทวีคอนกรีตเป็นผู้ส่งเข้าประกวด
ได้รับรางวัลเกียรติยศ มงกุฎประจำตำแหน่ง สายสะพาย
และเงินรางวัล จำนวน 20,000 บาท

แล้ว “รองอันดับ 3” ได้แก่
นางสาวศศิวิมล มงคลกาวิล
เทศบาลนครลำปางเป็นผู้ส่งเข้าประกวด
ได้รับรางวัลเกียรติยศ มงกุฎประจำตำแหน่ง สายสะพาย
และเงินรางวัล จำนวน 15,000 บาท

แล้ว “รองอันดับ 4” ได้แก่
นางสาวภัทราวดี วีระสัย
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.แม่เมาะ) เป็นผู้ส่งเข้าประกวด
ได้รับรางวัลเกียรติยศ มงกุฎประจำตำแหน่ง สายสะพาย
และเงินรางวัล จำนวน 10,000 บาท
http://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_detail/WNSOC6001060010066

VTR นำเสนอนางสาวนครลำปาง
โดย วงกลม เรคคอร์ดสตูดิโอ

https://www.youtube.com/watch?v=mELJDicClNc