ในแวดวงไอทีมักคุ้นเคยกับคำว่า Free app, Shareware, Freeware, Crack, Keygen, Serial number ที่ทำให้ผู้ใช้ในปัจจุบันสามารถหาโปรแกรมมาทดสอบ เรียนรู้ หรือทดลองใช้งานก่อนซื้อใช้จริง ซึ่งการพัฒนาโปรแกรมแล้วแจกจ่ายให้ผู้ใช้นำไปใช้ก่อนตัดสินใจ หรือใช้ฟรีจำเป็นต้องมีจิตอาสาในระดับหนึ่ง หากเป็นภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Volunteer spirit เมื่อแยกคำก็จะได้ Volunteer หมายถึงอาสาสมัคร ที่ยินดีทำงานไม่ถูกบังคับ ไม่มีผลตอบแทนเป็นเงื่อนไขหลัก ไม่มีการประเมินที่นำไปสู่การเอาผิดเอาชอบ ส่วน Spirit แปลว่า ผู้มีน้ำใจ ที่อุทิศตนโดยไม่ถูกควบคุมด้วยผลตอบแทน ดังนั้นผู้มีจิตอาสา คือ ผู้ที่เอื้อเฟื้อ เสียสละ และอาสาอุทิศตน โดยไม่มีผลตอบแทนเป็นเป้าหมายหลัก
มีการนำเสนอประเด็นจิตอาสาในหน่วยงานทุกระดับบ่อยครั้ง ว่าในสังคมมีเรื่องนี้น้อยกว่าที่ควร และมีการผลักดันให้เพิ่มจำนวนผู้มีจิตอาสา หรือกิจกรรมลักษณะนี้เพิ่มขึ้น จากกรณีการช่วยเหลือล่าช้าต่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่เห็นว่าภาคเอกชนหลายรายออกมาช่วยเหลือสังคมอย่างรวดเร็ว แต่ภาครัฐกลับออกมาล่าช้ากว่า โดยมีเหตุผลว่าถูกควบคุมด้วยเงื่อนไขมากมาย อาทิ ไม่ตรงกับแผนยุทธศาสตร์ ไม่มีงบประมาณ รอหนังสือสั่งการณ์ เกรงว่าจะทำงานซ้ำซ้อน ไม่มีกำลังคน ไม่มีความชำนาญ จนออกมาเป็นข่าวอยู่เนือง ๆ ทั้งที่คำว่าจิตอาสาควรเป็นภารกิจสำคัญที่ภาครัฐทุกหน่วยควรเห็นเป็นภารกิจที่สำคัญในการรับใช้ประชาชน
คำว่า CSR (Corporate Social Responsibility) หมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคม ถูกประยุกต์ให้เหมาะสมกับองค์กร ทำให้เกิดคำว่า GSR หรือ USR ตามประเภทขององค์กร ซึ่งพบเห็นในสื่อว่ามีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมเพื่อสังคมอย่างชัดเจนกว่าทุกยุคที่ผ่านมา แต่การพัฒนาทางวัตถุเร็วกว่าการพัฒนาทางจิตใจ ทำให้การดำเนินการตามแผน CSR ในองค์กรจำนวนไม่น้อย ไม่อาจบรรลุผลตามที่องค์กรตั้งไว้อย่างแท้จริง ด้วยเหตุว่าผู้รับผิดชอบยังขาดจิตอาสานั่นเอง ก็หวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ที่จะทำให้มีจำนวนผู้มีจิตอาสาเพิ่มขึ้น แล้วมีส่วนเข้าไปพัฒนาสังคมของเราให้พร้อมสำหรับการเปิดประตูสู่อาเซียน แล้วนั่นจะนำไปสู่การได้ใช้ซอฟท์แวร์ฟรีแต่ดี และเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้มีจิตอาสานั่นเอง
http://www.cityofsanmateo.org/index.aspx?NID=2309