ชีวประวัติหลวงพ่อ พระธัมมานันทมหาเถระ ธัมมาจริยะ อัครมหาบัณฑิต

 

 

schedule 49175722_10156903002443895_1646549045193211904_n 49132400_10156903002283895_7556580312579309568_n 49098694_10156903002163895_3827212183138205696_n 49122157_10156903001963895_3238583530787176448_o 49690710_10156903001833895_7629203210212737024_n

49239958_10156903002603895_1005401657300746240_n

ชีวประวัติหลวงพ่อ พระธัมมานันทมหาเถระ ธัมมาจริยะ อัครมหาบัณฑิต

ณ หมู่บ้านต่าสี่ อำเภอเหย่สะโจ่ จังหวัดปขุกกู่ ประเทศสหภาพพม่า คุณแม่หง่วยหยี่ ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนที่ ๓ ด้วยโสรดิถี มกรนักขัตตฤกษ์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย ปีระกา ตรงกับวันเสาร์ที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๓ (จุลศักราช ๑๒๘๒ คริสตศักราช ๑๙๒๑) คุณแม่หง่วยหยี่กับคุณพ่อโภเตด ได้ตั้งมงคลนามให้บุตรชายผู้เป็นดุจดวงตาดวงใจว่า “เด็กชายตันหม่อง” และได้ให้กำเนิดบุตรชายทั้งสิ้นรวม ๔ คน

ตระกูลนี้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า เมื่อเห็นว่าหมู่บ้านต่าสี่ยังไม่มีวัดเลย จึงได้ร่วมกันสร้างวัดต่าสี่ให้เป็นวัดประจำหมู่บ้าน และได้สร้างเจดีย์ทองประดิษฐานไว้ในวัดนั้นด้วย ซึ่งเป็นบรรยากาศที่น้อมอัธยาศรัยของลูกหลานทุกคนให้ได้เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัตร์ เมื่อเด็กชายตันหม่องอายุได้ ๗ ขวบ มารดาบิดาได้นำท่านไปฝากไว้ให้เป็นลูกศิษย์วัด กับท่านอาจารย์อูญาณะ เจ้าอาวาสวัดโตงทัตในหมู่บ้านต่าสี่ ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๐

นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นในเส้นทางพระพุทธศาสนาของเด็กชายตันหม่อง เธอจึงได้เรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นอนุบาลและชั้นประถม แม้จะเป็นเด็กวัดตัวน้อยๆ ท่านก็มีความทรงจำที่เป็นเลิศกว่าผู้อื่น สามารถทรงจำบทสวดมนต์ต่างๆได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทรงจำพระปริตร์ ได้ทั้ง ๑๑ สูตร ทรงจำคัมภีร์นมักการะ คัมภีร์โลกนีติ ชยมังคลคาถา ชินบัญชร นาสนกรรม ทัณฑกรรม เสขิยวัตร และขันธกะ ๑๔ วรรค ทั้งภาคบาลีและคำแปล แม้กระทั่งโหราศาสตร์ที่นับตัวเลขด้วยคำภาษาบาลีที่เรียนยาก ท่านก็ได้เรียนจนเข้าใจและจำได้ไม่หลงลืม

เมื่อถึงปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ ท่านมีอายุ ๑๔ ปี ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร มีฉายาภาษาบาลีว่า “สามเณรธัมมานันทะ” โดยมีท่านอาจารย์อูจารินทะ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว พระอุปัชฌาย์ให้ท่านท่องจำกัจจายนสูตรและคำแปล ตามคัมภีรย์กัจจายนสุตตัตถะ ทั้งได้สอนคัมภีร์กัจจายนสังเขปให้ท่านด้วย

ต่อมา ได้ย้ายไปอยู่วัดปัตตปิณฑิการาม ในตัวอำเภอเหย่สะโจ่ โดยมีอาจารย์อูอุตตระเป็นเจ้าอาวาสและอาจารย์สอน ได้เรียนคัมภีร์เพิ่มเติมอีกหลายคัมภีร์ คือ คัมภีร์พาลาวตาระ กัจจายนะ สัททนีติสุตตมาลา อภิธัมมัตถสังคหะ เทฺวมาติกา ขุททสิกขา กังขาวิตรณี และพระวินัยปิฏก

เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ โดยมีท่านอาจารย์อูสุชาตะ ผู้เป็นศิษย์ท่านอาจารย์อูอุตตระ เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ พัทธสีมาวัดหญ่องเป่งต่า จังหวัดมอละไมฺยจุน มีนายพละกับนางเส่งมยะ ผู้อยู่บ้านเลขที่ ๒๐ ถนนสายที่สี่ ในจังหวัดมอละไมฺยจุน เป็นโยมอุปัฎฐากถวายเครื่องอัฎฐบริขาร นับว่าท่านได้ทำเพศแห่งสมณะให้มีความมั่นคงถาวรในพระพุทธศาสนา อันเข้าใกล้มรรคผลและนิพพานแล้ว

หลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ท่านอาจารย์อูอุตตระ ได้ส่งท่านไปศึกษาพระปริยัตติธรรมต่อ ในสำนักของท่านอาจารย์อูโกสัลลาภิวังสะ วัดมหาวิสุทธาราม จังหวัดมันดเล จึงได้ศึกษาคัมภีร์ไวยากรณ์ภาษาบาลี คือคัมภีร์ปทรูปสิทธิและคัมภีร์ปทวิจยะ

ในช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ จังหวัดมันดเลเป็นเป้าหมายในการโจมตีทางยุทธศาสตร์ เพราะเป็นเมืองหลวงอันดับสอง รองจากกรุงย่างกุ้ง จึงถูกโจมตีอย่างหนัก เป็นเหตุให้ท่านอาจารย์อูธัมมานันทะ ย้ายจากจังหวัดมันดเลไปอยู่จังหวัดมะไลย ได้ศึกษาคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ฉันโทปกรณ์ สุโพธาลังการะ เภทจินตา และกัจจายนสาระ ในสำนักของท่านอาจารย์อูจันทโชติ เจ้าอาวาสวัดสิริโสมาราม หมู่บ้านกันจี จังหวัดมะไลย และยังได้ศึกษาคัมภีร์กัจจายนสุตตตัตถะ พร้อมทั้งวิธีการสร้างรูปคำศัพท์ ตามนัยของคัมภีร์กัจจายนะ นามปทมาลา และอาขยาตปทมาลา ได้ศึกษาคัมภีร์พระอภิธรรม คือ คัมภีร์ปรมัตถสรูปเภทนี มาติกา และธาตุกถา รวมทั้งคัมภีร์ปาราชิกกัณฑอรรถกถา (สมันตปาสาทิกา) ท่านพำนักอยู่ที่วัดสิริโสมารามรวม ๕ ปี จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง

ประกอบกับสมัยนั้น แถบจังหวัดปขุกกู่ และอำเภอเหย่สะโจ่ ไม่นิยมสอบสนามหลวง เพียงแต่ศึกษาเล่าเรียนให้แตกฉานเท่านั้น ท่านจึงไม่สนใจเข้าสอบ ตั้งแต่เป็นสามเณรเรื่อยมาจนได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง จึงได้เริ่มสอบสนามหลวง และสอบไล่ได้ชั้น “ปะถะมะแหง่” แล้วย้ายจากวัดสิริโสมาราม ไปอยู่วัดมหาวิสุทธาราม จังหวัดมันดเล อันเป็นที่พำนักอยู่เดิม ในที่นั้น ท่านได้เรียนคัมภีร์ต่างๆ จากอาจารย์อูโกสัลลาภิวังสะ อูชาเนยยพุทธิ อูสุวัณณโชติภิวังสะ และอูอานันทปัณฑิตาภิวังสะ จนสอบได้ชั้น “ปะถะมะลัด”

หลังจากนั้น ท่านได้ย้ายไปอยู่วัดเหว่หยั่นโผ่งต่า ได้เดินทางไปศึกษาคัมภีร์ปัฎฐานที่วัดปัฎฐานาราม ภูเขาสะกาย จังหวัดสะกาย เป็นพิเศษด้วย โดยมีท่านอาจารย์อูอินทกะ (อัครมหาบัณฑิต) เป็นผู้สอน จึงทำให้สอบไล่ชั้น “ปะถะมะจี” ได้เป็นอันดับ ๓ ของประเทศ

ในปีถัดมา ท่านได้ศึกษาคัมภีร์ต่างๆในชั้นธัมมาจริยะ จากท่านอาจารย์อูกัลยาณะ ผู้มีชื่อเสียงในการสอนคัมภีร์ชั้นธัมมาจริยะมากที่สุดในเมืองมันดเลในเวลานั้น จึงสอบไล่ชั้น “ธัมมาจริยะ” ได้ทั้ง ๓ คัมภีร์ คือ ปาราชิกบาลีและอรรถกถา สีลักขันธวรรคบาลีและอรรถกา ธัมมสังคณีบาลีและอัฎฐสาลินีอรรถกถา จึงได้รับตราตั้งว่า “สาสนธชธัมมาจริยะ” และยังสอบได้คัมภีร์พิเศษในชั้นธัมมาจริยะอีก คือ คัมภีร์มหาวัคคาทิอรรถกถา สังยุตตนิกายอรรถกถา และวิภังคาทิอรรถกถา จึงได้รับตราตั้งชั้นพิเศษว่า “สาสนธชสิริปวรธัมมาจริยะ” ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่ใครๆจะทำตามท่านได้ เมื่อย้อนดูประวัติการสอบตั้งแต่ชั้นแรกถึงชั้นธัมมาจริยะ ของท่านอูธัมมานันทะแล้ว จึงได้รู้ว่าท่านสอบได้ทุกชั้นมาโดยตลอด ไม่เคยสอบตกเลย จึงได้รับความยกย่องจากอาจารย์และเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมในวัด ๓ แห่ง คือ วัดสิริโสมาราม จังหวัดมะไลย วัดปัตตปิณฑิการาม อำเภอเหย่สะโจ่ และวัดเหว่หยั่นโผ่งต่า จังหวัดมันดเล มาตั้งแต่ก่อนจะเรียนจบชั้น “ปะถะมะจี” เสียอีก

เมื่อท่านเจริญอายุได้ ๓๗ ปี ช่วงเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ กรมการศาสนาของประเทศสหภาพพม่าได้นิมนต์ท่านให้เป็นพระธรรมฑูต เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในต่างประเทศ ท่านจึงย้ายไปอยู่ในสังฆมณฑลกะบ่าเอ กรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นทั้งกรมการศาสนา และมหาวิทยาลัยสงฆ์เพื่อการเผยแผ่ (ธัมมฑูตวิชชาลยะ) ได้ศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังประเทศญี่ปุ่น ในปีเดียวกันนั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตปญฺโญ ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ ประเทศไทย ได้ส่งหนังสือไปถึงกรมการศาสนาแห่งประเทศสหภาพพม่า ขอพระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในพระปริยัตติธรรม มาเป็นอาจารย์สอนที่วัดโพธาราม กรมการศาสนาแห่งประเทศสหภาพพม่าพิจารณาดูความเหมาะสมแล้ว เห็นว่าควรจะส่งท่านอูธัมมานันทะมาเป็นอาจารย์สอนพระปริยัติที่ประเทศไทย จึงได้กราบเรียนโดยรับรองกับท่านว่า เมื่อท่านสอนพระปริยัติธรรมในประเทศไทยได้หนึ่งพรรษาแล้ว จะส่งต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น ท่านจึงได้เดินทางมายังวัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ ตามที่กรมการศาสนานิมนต์ ในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๒

เมื่อมาอยู่ที่วัดโพธาราม ท่านอาจารย์อูธัมมานันทะได้ทำการสอนพระปริยัติติธรรมแก่พระภิกษุและสามเณรจำนวน ๒๐๐ รูป เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็ยังไม่ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นตามความมุ่งหมายเดิม เพราะท่านเจ้าคุณพระธรรมคุณาภรณ์ นิมนต์ให้อยู่สอนพระปริยัติธรรมต่อ ท่านจึงได้พำนักอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ เป็นเวลาถึง ๖ ปี

ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ ระหว่างที่ท่านพำนักอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์นั้น กรมการศาสนาประเทศสหภาพพม่าได้นิมนต์ท่านให้เดินทางกลับ เพื่อร่วมจัดทำคัมภีร์พจนานุกรมพระไตรปิฏก ฉบับบาลี-พม่า เล่มที่ ๑ และตรวจชำระคัมภีร์ต่างๆ มีสุโพธาลังการฎีกาเป็นต้น ในสมัยปัจฉิมฏีกาสังคายนา ที่มหาปาสาณคูหา กะบ่าเอ กรุงย่างกุ้ง ท่านจึงได้เดินทางกลับประเทศของท่านเป็นการชั่วคราว เพื่อร่วมจัดทำคัมภีร์ดังกล่าว เป็นเวลา ๑ ปี หลังจากการทำสังคายนาพระบาลี อรรถกถา และฎีกา รวมทั้งคัมภีร์ต่างๆ ได้สิ้นสุดลง ท่านก็ได้เดินทางกลับมาพำนักอยู่ที่วัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ตามเดิม

ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ ท่านอาจารย์อูเนมินทะ (อัครมหาบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ รูปที่ ๓ ชราภาพมากแล้ว จึงได้ทำหนังสือไปถึงกรมการศาสนาประเทศสหภาพพม่า บอกความประสงค์ว่า จะนิมนต์ท่านอาจารย์อูธัมมานันทะให้มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำอยู่ที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง ทางกรมการศาสนาประเทศสหภาพพม่า ก็ได้ทำหนังสือแจ้งให้ท่านทราบ ท่านจึงได้ย้ายจากจังหวัดนครสวรรค์มาอยู่ที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง เมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘ ท่านย้ายมาอยู่ที่วัดท่ามะโอเพียง ๕ เดือนเท่านั้น ท่านอาจารย์อูเนมินทะ เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ ก็มรณภาพลงด้วยโรคชรา ท่านอาจารย์อูธัมมานันทะจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอสืบมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะท่านเป็นผู้เรียนเก่ง สอนก็เก่ง มีความรักในการเรียนการสอนมากเป็นพิเศษ จึงไม่อยู่นิ่งเฉย ท่านเริ่มจัดการเรียนการสอนด้านพระปริยัติธรรม อันเป็นหลักสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยการตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น ในวันพฤหัสบดี แรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐ จนเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่มีชื่อเสียงขึ้นตามลำดับ กิตติศัพท์ของท่านและสำนักเรียนดังกระฉ่อนไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีพระภิกษุและสามเณรผู้ใฝ่ใจศึกษา เดินทางมาจากทั่วทุกมุมของประเทศ เพื่อสมัครเป็นศิษย์ผู้สืบสานการเรียนการสอนที่เข้าถึงแก่นแท้ของพระปริยัติศาสนา จะได้มีปรีชาสามารถจรรโลงรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวร สมกับเป็นพระศาสนาที่ประเสริฐสูงสุดในโลก เหล่าศิษยานุศิษย์ผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปศาสตร์แขนงเอก จากท่านอาจารย์อูธัมมานันทะ ล้วนเป็นผู้ทรงความรู้ความสามารถที่จะสืบทอดเจตนารมย์ของบูรพาจารย์ จึงได้พากันเอาใจใส่ในการเรียนการสอนอย่างจริงจัง จนสามารถผลิตนักศึกษาให้สอบไล่ได้ทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลีเป็นจำนวนมาก ทุกปีเสมอมา ทั้งมีความสามารถในการสอนและทรงจำคัมภีร์ต่างๆ ในระดับชั้นพระไตรปิฎกอันเป็นชั้นเรียนสูงสุดอีกด้วย

ท่านอาจารย์อูธัมมานันทะได้พร่ำสอนลูกศิษย์ของท่านอยู่เสมอว่า “การศึกษาพระไตรปิฎกให้แจ่มแจ้งนั้น จำเป็นต้องอาศัยคัมภีร์พื้นฐาน ๔ คัมภีร์ คือ (๑) คัมภีร์บาลีไวยากรณ์ทั้ง ๓ สาย ได้แก่ คัมภีร์สายกัจจายนะ สายโมคคัลลานะ และสายสัททนีติ (๒) คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา (๓) คัมภีร์วุตโตทยฉันโทปกรณ์ และ (๔) คัมภีร์สุโพธาลังการะ ท่านจึงสอนลูกศิษย์ให้ได้ศึกษาคัมภีร์พื้นฐานของพระไตรปิฎกทั้ง ๔ คัมภีร์นั้นให้ช่ำชองก่อน โดยการให้ทรงจำหลักสูตร ทั้งสอนและอธิบายให้เข้าใจในหลักสูตรอย่างแจ่มแจ้ง แล้วหมั่นสาธยายทบทวนไม่ให้ลืมเลือน และจัดพิมพ์คัมภีร์เหล่านั้นไว้เป็นหลักสูตรจนแพร่หลาย เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักปราชญ์สายบาลี ได้รับการยกย่องเรียกขานว่า “บาลีใหญ่”
มีคัมภีร์ที่ได้รับการจัดพิมพ์แล้วรวม ๒๐ คัมภีร์ คือ
๑. กัจจายนะ
๒. ปทรูปสิทธิ
๓. โมคคัลลานพฺยากรณะ
๔. สัททนีติ สุตตมาลา
๕. นฺยาสะ
๖. อภิธานัปปทีปิกา
๗. สุโพธาลังการะ
๘. วุตโตทยฉันโทปกรณ์
๙. สุโพธาลังการะปุราณฎีกา
๑๐. สุโพธาลังการะอภินวฎีกา
๑๑. ขุททสิกขาและมูลสิกขา
๑๒. ธาตฺวัตถสังคหะ
๑๓. สัททัตถเภทจินตา
๑๔. กัจจายนสาระ
๑๕. ณฺวาทิโมคคัลลานะ
๑๖. พาลาวตาระ
๑๗. สังขฺยาปกาสกะ
๑๘. สังขฺยาปกาสกฎีกา
๑๙. ปโยคสิทธิ
๒๐. วุตโตทยฉันโทปกรณ์แปล

ส่วนคัมภีร์ที่ท่านอาจารย์ได้รจนาขึ้นมี ๔ คัมภีร์ คือ
๑. อุปจารนยะและเนตติหารัตถทีปนี
๒. อุปสัมปทกัมมวาจาวินิจฉัย
๓. สังขิตตปาติโมกขุทเทสวินิจฉัย
๔. คัมภีร์นานาวินิจฉัย

๗๔ ปี ของท่าน ที่ได้อยู่ในร่มผ้ากาสาวพัตร์ ช่างเป็นชีวิตที่แสนประเสริฐสูงสุด บัดนี้ ท่านดำรงอยู่ในฐานะผู้มีวัยอันเจริญครบ ๘๘ ปี ผู้มีอัธยาศรัยอันถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาให้งดงามด้วยวิชชาคือพระปริยัติศาสนาที่ได้ศึกษามาอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ งดงามด้วยจรณะคือปฏิปทาอันเป็นข้อวัตรปฏิบัติอันคล้อยตามหลักพระสัทธรรมที่ได้ศึกษามาเป็นอย่างดี งดงามด้วยโอวาทานุสาสนีที่ได้ตักเตือนพร่ำสอนมวลหมู่ศิษย์ทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน ความงดงาม ความน่าเลื่อมใส ข้อวัตรปฏิบัติที่บริบูรณ์ของท่าน ศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ต่างชื่นชมโสมนัส เคารพยำเกรง ถือปฏิบัติเอาเป็นแบบอย่าง พากันเรียกขานด้วยความเคารพและอบอุ่นยิ่ง ว่า “หลวงพ่อ ภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ”

ด้วยผลงานด้านการสอนและการเรียบเรียงรจนาคัมภีร์อีกมายมายหลายคัมภีร์ รัฐบาลประเทศสภาพพม่า ได้รับทราบเกียรติคุณความดีในด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศของท่าน จึงได้น้อมถวายตำแหน่ง “อัครมหาบัณฑิต” แด่หลวงพ่อ ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ จึงเป็นที่รู้จักกันในมงคลนามว่า “หลวงพ่อ ภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต” แม้มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อันเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ของประเทศไทย ก็ได้ทราบเกียรติคุณของหลวงพ่อ จึงได้น้อมถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ท่าน

แม้เวลานี้ หลวงพ่อของพวกเรา จะชราภาพมากแล้วก็ตาม ท่านก็ไม่ได้คำนึงถึงความชราภาพของตนเองเลย ยังมีดวงหทัยอันเต็มเปี่ยมด้วยเมตตา มีความอุตสาหะพร่ำสอนศิษยานุศิษย์ให้พยายามศึกษาเล่าเรียนอย่างสม่ำเสมอ มวลศิษยานุศิษย์เล่า ก็พากันถือปฏิบัติตามอย่างเคร่องครัด เพราะมาเล็งเห็นโทษที่ไม่ปฏิบัติตาม และเล็งเห็นประโยชน์อันประเสริฐที่ได้ปฏิบัติตาม จึงได้ช่วยกันขวนขวาย จัดการเรียนการสอนตามแนวที่หลวงพ่อได้สอนตนมา ให้สืบทอดถึงรุ่นลูกหลานต่อไปในอนาคต พากันหวังอยู่ว่า หลวงพ่อจะเบาใจและวางใจได้ว่า พระพุทธศาสนาที่แผ่ซ่านอยู่ในสายเลือดของท่านนั้น ได้รับการสืบทอดแล้วอย่างลงตัว สมกับเจตนารมย์ที่ได้ตั้งอธิษฐานไว้ว่า

“จิรํ ติฏฺฐตุ สทฺธมฺโม ธมฺเม โหนฺตุ สคารวา”

ขอให้พระสัทธรรมจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

ขอให้ชนทั้งหลายจงมีความเคารพยำเกรงในพระธรรม

เมื่อวันที่ ๑๘-๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา หลวงพ่อได้มีโอกาสเดินทางกลับไปเยือนบ้านเกิดเพื่อสงเคราะห์หมู่ญาติ เพื่อเยี่ยมสำนักเรียนที่เคยเรียนเคยสอน และเยี่ยมสำนักที่เคยอยู่อาศัย เพื่อย้อนรอยสู่อดีตอันอบอุ่น สู่ความทรงจำอันยากจะลืมเลือน ที่อยากบอกเล่าให้ลูกศิษย์ทุกคนได้รับฟัง

เมื่อเป็นโอกาสดีอย่างนี้ พวกเราเหล่าศิษย์จึงขอติดตามหลวงพ่อไปด้วย เพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆ มาเล่าสู่กันฟัง อย่างภาคภูมิใจและชื่นชมโสมนัส

ภาพและเสียงที่จะได้รับชมรับฟังต่อไปนี้ คือบันทึกการเดินทางเยือนบ้านเกิดของหลวงพ่อผู้ยิ่งกว่าพ่อของพวกเราทุกคน

“หลวงพ่อ พระภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ ธัมมาจริยะ อัครมหาบัณฑิต”

จากหนังสือ งานละสังขาร 100 วันหลวงพ่อใหญ่

https://web.facebook.com/notes/ta-tuk-tatuk/

 

repost จาก note ของ FB: ta-tuk-tatuk

Leave a Reply