ข้อค้นพบจากการดำเนินงาน ระยะที่ 2 กรกฎาคม 2554 – ธันวาคม 2554

การวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ บ้านร่มเย็น หมู่ 8 ต.นิคมพัฒนา อ.เมือง จ.ลำปาง

 

          การเข้าศึกษาชุมชนในระยะที่สอง มุ่งค้นหาปัญหาที่แท้จริงที่ชุมชนต้องการแก้ไข เป็นการต่อยอดจากที่เคยศึกษาร่วมกับผู้นำชุมชนในระดับตำบล ซึ่งชุมชนบ้านร่มเย็น ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีหลายบทบาท ที่เกิดจากปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกันทั้งการศึกษา ฐานะ อาชีพ อายุ ความเป็นมา และความเข้มแข็งในครอบครัว การศึกษาบริบทพื้นฐานของชุมชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นและการลงพื้นที่ในระยะที่ 2 ทีมวิจัยเลือกพื้นที่คือบ้านร่วมเย็น หมู่ 8 เพราะสนใจประเด็นด้านการเกษตรพันธสัญญา แต่เมื่อเข้าไปเรียนรู้ในพื้นที่ พบว่า ชุมชนนี้มิได้ทำเกษตรพันธสัญญา แต่มีที่ดินของหมู่บ้านที่เรียกว่า นารวม หลังเรียนรู้ร่วมกันไประยะหนึ่งทีมวิจัยมีโอกาสเข้าไปสร้างสัมพันธ์กับชุมชนผ่านกิจกรรมเกี่ยวข้าว และตีข้าว โดยการบูรณาการกับการเรียนการสอนที่นำนักศึกษาสาขาวิชาสาธารณสุข และอาจารย์ จากมหาวิทยาลัยเนชั่น เข้าไปร่วมเรียนรู้ และตีข้าวกับคนในชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมอาสาของชุมชนที่มีคนจากนอกชุมชนเข้าไปร่วมกิจกรรมมากที่สุดเป็นครั้งแรก

          เมื่อลงพื้นที่ และศึกษาบริบทของชุมชนก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ในแต่ละครั้งตามแผน และข้อมูลที่ได้จากแต่ละเวทีก่อนหน้านี้ ในบางครั้งการลงพื้นที่เก็บข้อมูลก็พบประเด็นที่จำเป็นต้องนำกลับมาคุยกันในทีมวิจัย ก็เลือกหารือกันที่วัดบุญวาทย์วิหาร เพราะเป็นศูนย์รวมจิตใจ และศูนย์กลางของจังหวัดที่นักวิจัยสะดวกในการเข้าไปประชุมร่วมกันหลังเลิกงาน แล้วพูดคุยกันหาข้อสรุป ใช้เวลากันตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ตกถึงห้าทุ่มหลายครั้ง

          เครื่องมือใหม่ถูกนำมาใช้ ผ่านคำแนะนำของทีมใหญ่ที่ต่างประสบการณ์ แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ มุ่งกะเทาะหาข้อเท็จจริงออกมาจากชุมชนให้มากที่สุด และเรียนรู้กับชุมชนไปพร้อมกัน เครื่องมือที่นำมาใช้ในแต่ละช่วงมีหลากหลาย อาทิ โอ่งชีวิต แผนที่ชุมชน แผนที่ความคิด ต้นไม้ชุมชน ปฏิทินกิจกรรม ในที่สุดเราก็พบว่ากลุ่มแม่บ้านที่รวมกลุ่มกันทำข้าวซ้อมมือ ต้องการรวมกลุ่มใหม่หลังจากกลุ่มสลายตัวไปด้วยเหตุผลบางประการ เมื่อตัวแทนของชุมชนหยิบยกปัญหาการล้มหายของกลุ่ม ทีมวิจัยจึงเข้าไปชวนกลุ่มศึกษาตนเองในรายละเอียด พร้อมกับสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ จนเกิดการรวมกลุ่มตามความต้องการของชุมชนอีกครั้ง ซึ่งมีข้อสรุปว่ากลุ่มข้าวซ้อมมือที่รวมกลุ่มขึ้นมาใหม่นั้น ยังมีปัญหาที่ต้องการแก้ไข โดยเฉพาะการขาดความรู้ที่จะสนับสนุนการดำเนินการที่จะทำให้กลุ่มยั่งยืนต่อไป ซึ่งเข้าตามกรอบพันธกิจของสถาบันการศึกษาในด้านการบริการวิชาการ และคาดว่าจะมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในโครงการวิจัยระยะที่ 3 ที่เน้นไปที่การให้บริการวิชาการแก่กลุ่มตามความถนัดของแต่ละสถาบันการศึกษา

http://www.youtube.com/watch?v=8sYSkYKgssI

Leave a Reply